สธ.เผยสถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทยแนวโน้มลดลง ในปี 2557 ทั่วประเทศมีผู้ขึ้นทะเบียนรักษา 576 ราย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่มีความพิการขั้นรุนแรงสูงขึ้นเช่น นิ้วมือนิ้วเท้าด้วน หงิกงอ ร่วมด้วยร้อยละ 16 ในปีนี้จัดโครงการร่มเกล้าราชประชาสมาสัย 55 ปี ระหว่าง 16 ม.ค. 58 - 15 ม.ค. 59 ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ รักษาฟรีจนหายขาด ป้องกันพิการ และจัดโครงการทศวรรษกำจัดโรคเรื้อนใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 60 พรรษา ชี้โรคนี้รักษาหายได้ แนะประชาชน หากมีผิวหนังเป็นวงด่างขาวหรือแดง ไม่คัน แต่ชา รักษาไม่หายใน 3 เดือน อย่าชะล่าใจ ให้รีบพบแพทย์รักษา
เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 ที่ศาลาบุหรงสรวลสันต์ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ทศวรรษกำจัดโรคเรื้อนใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง และพัทลุง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๖๐ พรรษา”จัดโดยสำนักงานเขตสุขภาพที่ 12 ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งในโครงการจะมีการออกค้นหาคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อนในพื้นที่ทั้ง 7 จังหวัดและให้การรักษาฟรีจนหายขาด
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทยขณะนี้มีแนวโน้มลดลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานโครงการราชประชาสมาสัยเพื่อแก้ไขปัญหาโรคเรื้อน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อที่ทำให้เกิดความพิการถาวรได้ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 5 มกราคม 2558 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนี้ขึ้นทะเบียนรักษารวม 576 ราย กระจายทุกภาค โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 188 ราย ซึ่งลดลงกว่าปี 2553 ที่พบรายใหม่ 405 ราย ปัญหาที่น่าห่วงขณะนี้พบว่าในผู้ป่วยรายใหม่มีความพิการขั้นรุนแรงก่อนมาพบแพทย์รักษา เช่นหนังตาปิดไม่สนิทเวลาหลับ นิ้วมือนิ้วเท้าหงิก งอ กุดหรือด้วน หรือเป็นแผล สูงขึ้นถึงร้อยละ 16 เพิ่มจากปี 2553 ที่พบร้อยละ 14 จึงได้ปรับระบบบริการแนวรุก โดยในปีนี้ ได้ร่วมกับราชประชาสมาสัย จัดโครงการร่มเกล้าราชประชาสมาสัย 55 ปีแห่งการสนองพระราชปณิธาน เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทั้งชาวไทยและต่างชาติทุกสัญชาติ โดยตรวจสุขภาพ หากพบจะให้การรักษาฟรี กลุ่มที่เน้นเป็นพิเศษได้แก่ แรงงานข้ามชาติ เรือนจำ พื้นที่ชายแดน แรงงานย้ายถิ่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 15 มกราคม 2559
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า โรคเรื้อนเป็นโรคผิวหนัง ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยาป้องกัน แต่มียารักษาที่ให้ผลดี วิธีการเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการตรวจร่างกายให้รู้โรคได้เร็วที่สุด จึงขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการผิดปกติที่ผิวหนัง หลังติดเชื้อประมาณ 3-5 ปี จะมีอาการปรากฏที่ผิวหนัง คือมีรอยวงสีแดงหรือสีขาวคล้ายเกลื้อน ขนภายในวงร่วง ไม่คัน อาจมีอาการชา ไม่มีไข้ หากได้รับการรักษาคือกินยาเร็ว ยาเม็ดแรกจะฆ่าทำลายเชื้อในร่างกายได้มากถึงร้อยละ 99 ภายใน 3-5 วัน จะไม่มีความพิการและไม่แพร่เชื้อสู่คนอื่น แต่หากไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าไปทำลายประสาทปลายมือปลายเท้าและที่ปลายกระดูกอ่อน จะให้เกิดอาการชา หยิกไม่เจ็บจนถึงขั้นพิการ เริ่มตั้งแต่ข้อมือข้อเท้าอ่อนแรง กระดูกนิ้วมือนิ้วเท้าผิดรูปเช่นหงิกงอ นิ้วกุด หรือเท้าเป็นแผล ติดเชื้ออักเสบลุกลามจนถึงต้องตัดทิ้ง โรคนี้ใช้เวลารักษานาน 6 เดือนถึง 2 ปีขี้นอยู่กับความรุนแรง ดังนั้นจึงขอให้ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังหากรักษาไม่หายขาดใน 3 เดือน อย่าชะล่าใจ ขอให้พบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12 กล่าวว่า ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ประกอบด้วยนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง พบผู้ป่วยโรคเรื้อนอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างติดตามรักษา 82 ราย ในปี 2557 พบผู้ป่วยรายใหม่ 28 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 3 ราย พบความพิการแล้วสูงถึงร้อยละ 29 มากที่สุดที่นราธิวาส 17 ราย รองลงมาคือปัตตานี 5 ราย ยะลา 4 ราย ในปีนี้ได้จัดโครงการทศวรรษกำจัดโรคเรื้อน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ดำเนินการทั้ง 7 จังหวัดตลอดปี โดยมีหน่วยแพทย์ออกค้นหาผู้สัมผัสโรคเรื้อน เช่นผู้ที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกับผู้ป่วย กลุ่มผู้ที่เป็นโรคผิวหนังรักษาไม่หายขาด กลุ่มแรงงานข้ามชาติ หากพบจะให้การรักษาฟรี และติดตามเฝ้าระวังอาการของคนในครอบครัวต่อเนื่องอีก 10 ปี
- 4 views