รองเลขาธิการสปสช.เผยมติบอร์ดสปสช.รับทราบข้อเสนอของปลัดสธ.เกี่ยวกับการบริหารงบบัตรทอง ไม่ได้เห็นชอบตามที่ปลัดสธ. และรองวชิระนำเสนอในที่ประชุมสธ.เมื่อ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา เชื่อน่าจะเกิดจากความเข้าใจผิด แต่สปสช.ต้องชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
13 ม.ค.58 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมปฏิบัติการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บริหารสาธารณสุขจากทุกจังหวัดเข้าร่วมกว่า 700 คน โดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. และ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ. เป็นประธานและวิทยากรชี้แจง และมีการนำเสนอผลสรุปว่าที่ประชุมบอร์ดสปสช.เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 57 ได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของปลัดสธ.แล้วนั้น ตนเชื่อว่าคงเกิดจากความเข้าใจผิด อาจมีการตัดทอนข้อมูลและงานของ สปสช. แล้วนำไปกล่าวอ้างเฉพาะบางส่วน ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด และ รพ.ต่างๆ ทั่วประเทศสับสน กระทบกับการจัดบริการผู้ป่วยโดยรวม เพราะข้อเท็จจริงของการประชุมบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม และรับรองมติเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. มีมติ สรุปได้ดังนี้
1.รับทราบข้อเสนอการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 ที่ปลัดฯสธ.เสนอ ที่จะให้มีการปรับปรุงการบริหาร งบ OP/IP/PP และอื่นๆ และมอบคณะอนุกรรมการการเงินการคลังไปทำงานร่วมกับ สธ. และ สปสช. ในรายละเอียด โดยให้เขต 2 พิษณุโลก และ 10 อุบลราชธานี เป็นเขตตัวอย่างในการทำข้อเสนอให้เสมือนจริง (Simulation) ถึงในระดับสถานพยาบาล เปรียบเทียบกับการจัดสรรเงินที่ทำอยู่ขณะนี้ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.รับทราบข้อเสนอของคณะอนุการเงินการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริการโรคเฉพาะ ภายใต้เหตุผลที่ว่า โรคเฉพาะบางประเภทเมื่อมีการบริหารในระดับเขตจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยมีหลัก 4 ข้อ คือ
2.1 ลดการบริหารระดับประเทศเหลือไว้เฉพาะที่จำเป็น
2.2 เพิ่มการบริหารระดับเขตโดยเขตต้องสามารถรองรับการบริหารได้และเป็นประโยชน์กับประชาชน
2.3 ปรับเป็นงบค่าหัวปรกติเมื่อมีศักยภาพ
2.4 ลดการรายงานให้เหลือน้อยที่สุด
ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้เตรียมการให้การถ่ายทอดเป้าหมายระดับประเทศที่เหมาะสมลงสู่เขต และให้สามารถเริ่มดำเนินการในไตรมาสที่สาม และพร้อมที่จะปรับปรุงในปี 2559
3.รับทราบข้อเสนอของคณะอนุกรรมการการเงินการคลังเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริหารกองทุนที่ร่วมกับ อปท. ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และข้อเสนอให้แยกงบส่วนนี้ต่างหากตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป
4.ให้สปสช.ขอข้อมูลตามจำเป็นภายใต้โครงสร้างข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข หากมีความจำเป็นจะมีข้อมูลเพิ่มเติมให้ประสานงานขอความเห็นกระทรวงสาธารณสุขก่อน
5.ให้กระทรวงสาธารณสุข รับไปพิจารณาตั้งโครงการพัฒนาข้อมูลผู้ป่วยทั้งระบบ
6.ให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาของบประมาณเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้บุคคลากรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในส่วนที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยตามงบประมาณที่ได้รับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป
7.มอบคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ไปดำเนินการต่อร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ในการให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพปี 2558 ตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2557 วันที่ 22 กันยายน 2557 และเสนอข้อสรุปผ่านคณะอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ก่อนเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาต่อไป โดยให้ได้ข้อยุติให้ทันใช้ในการปรับการจัดสรรเงินกองทุนฯ ของไตรมาสที่ 3 และ 4 ปีงบประมาณ 2558 และ ในระหว่างนี้ให้ สปสช.บริหารงบกองทุนตามประกาศของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ไปก่อน
นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า “จะเห็นว่ามติบอร์ด สปสช.ไม่มีเรื่องการเห็นชอบตามข้อเสนอของท่านปลัดสธ.แต่อย่างใด เพราะประธานและกรรมการหลายท่านเห็นว่าการบริหารกองทุนฯ เป็นเรื่องสำคัญที่มีการพัฒนา ปรับปรุงต่อเนื่องกันมานานแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงใหญ่ต้องรอบคอบ ยึดหลักการแยกผู้ซื้อออกจากผู้จัดบริการ และต้องไม่ผิดกฎหมายด้วย”
รองเลขาธิการสปสช.กล่าวต่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างคาดหวังว่าทุกหน่วยงานจะจับมือกันปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ถ้ากระทรวงสาธารณสุขเน้นทำหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาเครือข่ายบริการและขยายศักยภาพของ รพ.ให้บริการประชาชนได้มากขึ้น ส่วน สปสช.ก็ทำหน้าที่หางบประมาณเพิ่มเติมและบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามที่กฎหมายกำหนดให้มีประสิทธิภาพโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และถ้ามีส่วนที่ทับซ้อนกันก็หารือแก้ไขร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยใช้กลไกระดับเขตของทั้งสองฝ่ายเหมือนอดีตที่ผ่านมา ปัญหาต่างๆที่จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน หรือหวั่นวิตกก็จะหมดไป
- 2 views