แกนนำ 7 องค์กรหมออนามัย เตรียมยกร่างเสนอจัดตั้ง “ศูนย์กลางเฝ้าระวังโรคระดับตำบล” จุดจัดการโรคระดับพื้นที่ หนุนการทำงาน สธ.ป้องกันโรค สู้ภัยโควิด-19
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ จ.นนทบุรี ในการประชุมเครือข่ายสมัชชาหมออนามัยเพื่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้โครงการจิตอาสาประชารัฐเพื่อสังคมสุขภาวะ (สอปร.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ 7 องค์กรเครือข่ายหมออนามัย เพื่อร่วมขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาพ พัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีความเข้มแข็ง โดยมี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม พร้อมกล่าวถึงแนวทางการบูรการความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมแก้ไขปัญหาและหนุนเสริมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข เร่งป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
นพ.ประทีป กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของบุคลากรสาธารณสุข รวมถึงเครือข่ายหมออนามัยทั่วประเทศ ที่เป็นกำลังสำคัญที่จะปกป้องดูแลสุขภาพของประชาชนให้ห่างไกลจากโรค ซึ่งที่ผ่านมามาตรการภาครัฐอาจมีข้อจำกัดบ้าง แต่หากเรามีกำลังหนุนเสริมจากทุกภาคส่วน เช่น ท้องถิ่น รพ.สต. อสม. ก็จะช่วยเสริมพลังซึ่งกันและกัน เสริมสร้างให้คนทำงานมีองค์ความรู้และให้คนพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันเอย่างเต็มที่ นี่คือสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ
“จุดแข็งของเราคือกำลังคนด้านสาธารณสุขที่มีอยู่ทั่วประเทศ แต่โจทย์สำคัญที่ต้องร่วมคิด คือ จะทำอย่างไรที่จะดึงเอาพลังจากทุกเครือข่ายในพื้นที่ เข้ามาช่วยหนุนเสริมตลอดจนสะท้อนการทำงาน และเตรียมความพร้อมกลไกระดับพื้นที่ เพื่อรองรับมาตรการ ข้อสั่งการ จากภาครัฐหรือกระทรวงสาธารณสุขในการปกป้องชีวิตประชาชนจากโควิด-19 ที่กำลังระบาดรุนแรงอยู่ในขณะนี้” นพ.ประทีป กล่าว
นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย กล่าวว่า จากการระดมความคิดของแกนนำ 7 องค์กรเครือข่ายหมออนามัย อันได้แก่ สมาคมหมออนามัย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ชมรมรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฝ่ายบริหาร ชมรม ผอ.รพ.สต.แห่งประเทศไทย และเครือข่ายหมออนามัยวิชาการวารสารหมออนามัย ได้มีข้อเสนอดังนี้ คือ
1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ระดับตำบล โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน สาธารณสุขอำเภอเป็นเลขานุการ เป็นกลไกสนับสนุน การขับเคลื่อนงานในพื้นที่ระดับตำบล ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและให้มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป็นเลขานุการ มีคณะทำงานจากทุกภาคส่วนเป็นแกนทำงาน เช่น เครือข่ายหมออนามัย เครือข่ายภาคประชาสังคม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำชุมชน รพ.สต. อสม.ฯ ไปเสริมเป็นคณะทำงาน เป็นศูนย์เตรียมความพร้อมให้กับประชาชน เฝ้าระวัง และให้ความรู้ สถานการณ์เกี่ยวกับโรคที่ถูกต้องและต่อเนื่อง
2. การใช้ธรรมนูญสุขภาพ เพื่อทำข้อตกลง หรือ มาตรการของตำบลและหมู่บ้าน โดยนำผสมผสานมาตรการภาครัฐมาสู่การปฏิบัติที่เข้าใจง่าย สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ สามารถทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น สร้างการยอมรับ เพื่อใช้บังคับกรณีผู้ใดที่เข้ามาในพื้นที่ตำบลต้องทำตามกฎกติกาของตำบล และหมู่บ้าน
3. การจัดกิจกรรมหนุนเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน, การซ้อมแผนป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19, และการทำกิจกรรม Big cleaning ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม
4. การจัดทำโครงการสู้ภัยโควิด-19 ระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ระดับตำบล เสนอของบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ รวมทั้งการบูรณาการทรัพยากร คน เงิน ของ และการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีองค์กรรับผิดชอบขับเคลื่อนการทำงานจากทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ตำบลและหมู่บ้านอย่างชัดเจน
หลังจากนี้จะเร่งจัดทำข้อเสนออย่างเป็นทางการ นำเข้าที่ประชุมในวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กระทรวงสาธารณสุข ที่มีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) เข้าร่วมประชุมหารือถึงแนวทางดำเนินงานรวมทั้งงบประมาณสนับสนุนขับเคลื่อนป้องกันโรคในพื้นที่ ทั้งนี้แกนนำ 7 องค์กรจะเข้าร่วมแสดงพลังและความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย
- 33 views