คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รุกเดินหน้าขับเคลื่อน “ธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19”ทุกตำบล เน้นปกป้องผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน
วันที่ 27 มีนาคม 2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19”ที่หน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ เช่น สธ.สปสช.สสส.สวรส. สรพ.สพฉ. และด้านสังคม เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายหมออนามัย ๗ องค์กร และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐสถาบันวิชาการธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่จับมือประกาศจุดยืนสู้ภัยโควิด19 สนับสนุนชุมชนคลอดธรรมนูญประชาชน เน้นปกป้องผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในชุมชน โดยมี สช. เป็นหน่วยประสานงานกลาง
หลังประชุม นายอนุทิน เปิดเผยว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้หารือและเห็นว่าการระบาดของโรคโควิด19 มีความรุนแรงมากขึ้นและขณะนี้กระจายเข้าสู่พื้นที่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ถือเป็นวิกฤตของประเทศที่ต้องการรวมพลังจากทุกภาคส่วนมาหนุนช่วยขณะที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรคนี้ และมุ่งปกป้องชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เป็นกลุ่มเสี่ยงให้ได้อย่างจริงจริง
“ผมและกรรมการสุขภาพแห่งชาติทุกคนเห็นด้วยกับแผนงานที่ สช.เสนอ และได้มอบให้ท่านเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ไปดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งส่วนกลางและพื้นที่ทำการขับเคลื่อนเตรียมพร้อมชาวบ้านในชุมชนจากความตื่นกลัวเป็นตื่นรู้และมีเวทีเรียนรู้ จัดทำข้อตกลงร่วมหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด 19 ในทุกตำบลชุมชนหมู่บ้าน เพราะประชาชนเป็นพลังสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเป็นหูเป็นตา ดูแลกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อไวรัส และปกป้องผู้สูงอายุ เด็นเล็กที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ให้ติดเชื้อ ไม่ให้ป่วยหนักจนเป็นภาระกับโรงพยาบาล รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดตามข้อแนะนำของทางการ” นายอนุทิน กล่าว
รองนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวย้ำว่า แม้ในโหมดของการรักษาทางกระทรวงสาธารณสุขจะค่อนข้างเตรียมความพร้อมได้ดีแล้วแต่หากมีการระบาดหนักก็ยังเป็นการยากที่จะรองรับไหว ดังนั้นการป้องกันการแพร่ระบาดโดยมาตรการ Social Distancing จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำอย่างไรให้เรื่องนี้อยู่ในความตระหนักของประชาชนทั้งสังคมอย่างแท้จริง เรื่องนี้มีงานศึกษาจากประเทศออสเตรเลียรองรับแล้วว่า ต้องทำมาตรการนี้ให้ได้ถึงร้อยละ 80 จึงจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายได้อย่างมีนัยสำคัญ แม้ทำได้เพียงร้อยละ 70 ตัวเลขเหมือนจะดูห่างกันไม่มากแค่ร้อยละ 10แต่ผลลัพธ์การแพร่กระจายกลับสูงแตกต่างกันอย่างมาก ผลการศึกษายังชี้อีกว่า หากทำมาตรการนี้ได้ถึงร้อยละ90ก็มีแนวโน้มว่าอาจจะหยุดการแพร่กระจายได้ในเวลาไม่นาน การสร้างความเข้าใจและทำให้ประชาชนร่วมมือให้มากที่สุดจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด19” มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการสนับสนุนให้ทุกตำบลจัดกระบวนการประชาคมของสภาองค์กรชุมชน ร่วมกับอาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19ทุกตำบล ทุกชุมชนหมู่บ้าน ให้เต็มพื้นที่ภายในเดือนเมษายน นี้
“ขณะนี้มีการดำเนินการเรื่องนี้ในหลายพื้นที่แล้ว เช่น ธรรมนูญสุขภาพตำบลสร้างนกทาว่าด้วยปฏิบัติการต้านโควิด19 ธรรมนูญตำบลหนองหลวงว่าด้วยมาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจเกี่ยวกับโควิด19 ธรรมนูญตำบลนาโพธิ์กลางว่าด้วยมาตรการป้องกันไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นต้น สำหรับในกรุงเทพมหานคร จะดำเนินการนำล่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่เป็นตัวอย่างในบางชุมชนพื้นที่หรือบางเขต”
“ถ้าประชาชนในพื้นที่จับมือกันและหนุนช่วยมาตรการต่างๆ ของรัฐ เราจะชนะโรคโควิด19 และประเทศไทยจะพ้นวิกฤตนี้ได้อย่างแน่นอน”เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าว
- 14 views