โพสต์ทูเดย์-ในที่สุด ความขัดแย้งในวงการหมอ ก็ลากยาวข้ามปี และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และขั้วตรงข้ามอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) - เอ็นจีโอ "เทหมดหน้าตัก" ไม่สนแล้วว่าจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
ล่าสุด ฟากปลัดรวบรวมก๊ก โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประกาศตัดสัมพันธ์ เลิกส่งข้อมูลผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก ให้ สปสช. ตั้งแต่ต้นปี 2558 จนกว่า สปสช.จะทำตามข้อเสนอของปลัดณรงค์
เป็นปฏิกิริยาที่ตามมาอย่างเป็นลำดับขั้น ภายหลังทั้งสองกลุ่มเตรียมยื่นให้ศาลปกครอง ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตรวจสอบการใช้จ่ายงบบัตรทองผิดประเภท
ภายหลังตัวแทน สธ.ปฏิเสธเข้าร่วมกรรมการแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ชุดที่ นพ.ยุทธ โพธารามิก อดีตรองปลัด สธ. เป็นประธาน ตามคำสั่งแต่งตั้งของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เพียง 2 สัปดาห์
และภายหลังผู้ตรวจราชการ สาธารณสุขนิเทศก์ ยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบการใช้เงินผิดประเภทของ สปสช. ที่จ่ายให้ "มหาวิทยาลัยมหิดล" ซึ่งหมอรัชตะ เป็นอธิการบดี และจ่ายให้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่ง นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. เป็นเลขาธิการ เรียกได้ว่าพุ่งเป้าโจมตีรัฐมนตรีทั้งสองคนโดยตรง หลังจากที่เลียบๆ เคียงๆ มาโดยตลอด
ขณะที่ฝั่ง สปสช. ก็เป็นครั้งแรกที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ นำทีมผู้บริหารออกโรงโต้ปลัด สธ.โดยตรง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็เป็นคิวของ "เครือข่ายผู้ป่วย" ออกโรงเคลื่อนไหว เรียกร้องให้หมอรัชตะปลดปลัดณรงค์ กลางงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และยังเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฟันปลัดณรงค์เช่นเดียวกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "เครือข่ายผู้ป่วย" ก็คือกลุ่มคนใกล้ชิดบอร์ด สปสช. และคือหัวหมู่ทะลวงฟันที่เป็นขุนพลหลักในการปกป้อง สปสช.มาหลายปี ร่วมกับอีกกลุ่มที่เคยมีบทบาท แต่กลับเฟดตัวเองออกมาอย่าง "ชมรมแพทย์ชนบท" นอกจากนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนเริ่มออกมา ปะฉะดะกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเขตสุขภาพ และไม่เห็นด้วยกับการไล่บี้ สปสช. อย่างที่ปลัดณรงค์กำลังจะทำ
กลายเป็นว่าสงครามครั้งนี้ ขยายวงกว้างออกมากกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่เรื่องนี้แก้ง่ายนิดเดียว คือ ใช้กลไกของบอร์ด สปสช. ที่หมอรัชตะเป็นประธานอยู่ด้วย และใช้อำนาจของรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด "สั่งการ" หาทางออกให้ทุกคนหยุดสงครามประสาท
กลายเป็นว่า ณ ขณะนี้ สธ. เป็น กระทรวงเดียวที่ปลัดแข็งข้อต่อรัฐมนตรี และเกิดความขัดแย้งในผู้ใต้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น โดยที่ผู้บริหารสูงสุดไม่สามารถทำอะไรได้
แม้ทุกฝ่ายจะยืนยันว่า ความขัดแย้งจะไม่กระทบกับการให้บริการประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากยึดเรื่องง่ายๆ แค่การบริหารราชการแผ่นดิน ที่ฝ่ายการเมืองกำหนดนโยบายสั่งการให้ฝ่ายข้าราชการปฏิบัติตาม ยังดำเนินการได้ตามปกติหรือไม่ ก็ยังไม่มีใครรู้
เพราะเรื่อง "ทีมแพทย์ประจำครอบครัว" ปลัดกระทรวงไม่เคยพูดถึง เรื่อง "เขตบริการสุขภาพ" ของปลัด รัฐมนตรีทั้งสองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย
นอกจากนี้ เรื่องจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ตรวจฯ-นายแพทย์ สสจ. เช็กกำลังกันเข้มข้นว่าลูกน้องตัวเอง "อยู่ฝ่ายไหน" และความเป็นพี่เป็นน้องระหว่างหมอด้วยกันที่อยู่ใน สปสช. และที่อยู่ในกระทรวงฯ ก็เริ่มมีช่องว่างมากขึ้น ทั้งที่โดยหลักการต้องทำงานใกล้ชิดกัน "เพื่อประชาชน"
บทพิสูจน์ที่ผ่านมาชัดเจนแล้วว่า รมว.สธ. ไม่สามารถแก้ปัญหาภายในได้ เมื่อลาก "ผู้ใหญ่" อย่าง นพ.ยุทธ มา ก็ยังล้มเหลวอีก ทำให้สุดท้ายเรื่องยุ่งยากต้องลามไปถึง "บิ๊กตู่" ในที่สุด
หาก "บิ๊กตู่" แก้ไม่ได้ ก็น่ากังวลว่าสิ่งที่หลายคนกลัวก็คือการ "ล้างไพ่" ถอดชนวนความขัดแย้งด้วยการปรับ ครม. เปลี่ยนสองรัฐมนตรี เปลี่ยนปลัด และเปลี่ยนผู้บริหาร สปสช. อาจจะเกิดขึ้นจริง
คำถามก็คือว่า การล้างไพ่ปลดออกทุกคนจะสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนหรือไม่ ในเมื่อสัมพันธ์ที่ร้าวลึกระหว่างกระทรวง โรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลชุมชน และ สปสช. ยังคงอยู่ และแม้จะมีรัฐมนตรีใหม่เข้ามา ความเสี่ยงที่ปัญหาจะทวีความรุนแรงขึ้นก็ยังคงอยู่ โดยที่ลุงตู่อาจได้แต่มองตาปริบๆ เท่านั้น !
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 ธันวาคม 2557
- 16 views