กระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ทุกวัน โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีน้ำท่วมบริเวณกว้างทั้ง 13 อำเภอ ทีมแพทย์ได้ตรวจประเมินสุขภาพจิตผู้ที่เครียดจากน้ำท่วมรวม 4,025 ราย ในจำนวนนี้มีเครียดสูง 10 ราย ต้องดูแลใกล้ชิด ย้ำเตือนประชาชน หากมีบาดแผลที่เท้า ให้รักษาความสะอาดแผล หลีกเลี่ยงลงน้ำ
25 ธ.ค.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทั้งทางรถและทางเรือต่อเนื่องทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้ยังให้ทีมแพทย์เคลื่อนที่ประเมินปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่ประสบภัยจากน้ำท่วมด้วย เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ตั้งแต่วันที่ 22-25 ธันวาคม 2557 ได้ส่งยาไปให้พื้นที่น้ำท่วมจำนวน 75,000 ชุด ประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส จังหวัดละ 20,000 ชุด สงขลา 15,000 ชุด ปัตตานี 10,000 ชุด สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 5,000 ชุด
สำหรับที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีผู้ประภัยเกือบ 170,000 คน ได้ตรวจคัดกรองประเมินสุขภาพจิตผู้ที่เครียดจากสถานการณ์น้ำท่วมจำนวน 4,025 ราย ซึ่งมีผู้ที่เครียดในระดับสูง จำนวน 10 ราย ต้องดูใกล้ชิดเป็นพิเศษ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งดำเนินการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเอง ฝึกการบริหารจิตใจ ในสถานการณ์น้ำท่วม ให้คนในครอบครัวช่วยดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจนกว่าอาการจะดีขึ้นและเป็นปกติ
นพ.สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า พื้นที่ประสบภัยในจังหวัดนราธิวาส ที่วิกฤติที่สุดมี 3 อำเภอ คือ สุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอตากใบ ซึ่งน้ำขยายวงกว้างมากขึ้น ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปดูแลประชาชนทุกวัน ทั้งตั้งจุดให้บริการในหมู่บ้าน และจัดทีมเข้าไปเยี่ยมบ้านด้วย มีผู้รับบริการ 10,000 กว่าคน ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 เป็นโรคน้ำกัดเท้า ที่เหลือเป็นไข้หวัด ปวดเมื่อย อาการไม่รุนแรง
เรื่องที่น่าเป็นห่วงในช่วงน้ำท่วมคือ เริ่มพบประชาชนมีบาดแผลที่เท้า ซึ่งเกิดจากถูกของมีคมบาด เช่นเปลือกหอย เศษไม้ทิ่มแทง มีจำนวนมากขึ้น จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นขอให้ใส่รองเท้าที่มีพื้นหนา และใส่กางเกงขายาว เพื่อป้องกันการเกิดแผลขีดข่วน ขณะเดินลุยน้ำ หลังจากลุยน้ำแล้วให้รีบชำระล้างร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลเปิด ขอให้ทำแผลทุกวันและหากแผลมีอาการผิดปกติ เช่น บวมแดง มีหนอง ขอให้รีบพบแพทย์ที่หน่วยเคลื่อนที่โดยเร็ว ส่วนผู้ที่มีรอยแผลข่วนหรือแผลถลอก แผลลักษณะนี้จะไม่ค่อยมีอันตราย ให้ทำความสะอาดและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน แผลจะค่อยดีขึ้นและหายได้เอง แต่ให้ระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ โดยเฉพาะแหล่งที่มีน้ำขัง เป็นแอ่งน้ำเล็กๆ สกปรก ซึ่งอาจมีเชื้อโรคฉี่หนูปนเปื้อนอยู่ ในแหล่งน้ำประเภทนี้ เชื้อโรคสามารถไชเข้าทางรอยถลอกได้ และป่วยเป็นโรคฉี่หนู
- 10 views