สธ.อบรมแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริตแก่ผู้บริหารในภูมิภาคและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารงานบุคคล เผยช่วงปี 2550-2556 มีเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทำผิด ถูกลงโทษไล่ออกและปลดออกจากราชการ 76 คน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและด้านการเงินจาก รพ.สต. และ รพช. มากสุด เร่งสร้างเครือข่ายแจ้งเบาะแส 2 ช่องทางตลอด 24 ชั่วโมง

22 ธ.ค. 57 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงานบุคคล จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ โรงพยาบาลทุกระดับในเขตสุขภาพที่ 1-3 ในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 350 คน เพื่อถ่ายทอดนโยบายยุทธศาสตร์เร่งด่วน เรื่องแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในด้านการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบและการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรม ประจำปีงบประมาณ 2558 เพื่อแปลงไปสู่การปฏิบัติระดับหน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ โดยได้เชิญ ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารงานภายใน ข้อมูลจากกลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าระหว่างปี 2550-2556 มีบุคลากรในสังกัดกระทำผิด ทุจริตต่อหน้าที่ ถูกลงโทษขั้นไล่ออกและปลดออกจากราชการรวม 76 คน เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ทั้งหมดเป็นผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ด้านการเงิน และเป็นผู้บริหารที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงพยาบาลชุมชนมากที่สุด ในจำนวนนี้มี 5 คนลงโทษตามที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จึงได้เร่งพัฒนาและส่งเสริมระบบธรรมาภิบาล วางระบบและกลไก โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง การรับสิ่งของจากภาคเอกชน ให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม คุณธรรม คุ้มค่า โปร่งใส เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ขับเคลื่อนแผนฯ นำไปสู่การเป็นองค์กรต้นแบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2558 กระทรวงฯได้สนับสนุนการขับเคลื่อนแนวทางป้องกันการทุจริต ประพฤติมิชอบ 4 ประการ สอดคล้องกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้แก่1.ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯระยะที่ 2 พ.ศ. 2556-2560 ไปสู่การปฏิบัติระดับหน่วยงานและกำหนดเป็นตัวชี้วัดของกระทรวง 2.ส่งเสริมให้บุคลากร ประพฤติตนและปฏิบัติตามหลักคุณธรรม จริยธรรมของข้าราชการพลเรือน สร้างค่านิยมเชิดชูความดี ซื่อสัตย์สุจริต 3.การลดความเสี่ยงในการทุจริต สร้างค่านิยมและมาตรการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ และ4.ประสานความร่วมมือเครือข่ายสุขภาพทุกภาคส่วนและประชาชน ให้มีส่วนร่วมเฝ้าระวัง และตรวจสอบ  ซึ่งขณะนี้มีอสม.จำนวน 87,800 คน และมีพยาบาล เครือข่ายประชาคม 52 ชมรม เป็นเครือข่ายสำคัญ โดยมีช่องทางแจ้งเบาะแส 24 ชั่วโมง ทางเว็บไซต์www.stopcorruption.moph.go.th และทางตู้ปณ.9 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข 11000 เชื่อว่าจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งยั่งยืนในระดับประเทศและสากล

ทั้งนี้ เงื่อนไขความสำเร็จในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต บุคลากรต้องมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ผู้บริหารกระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี ยึดถือความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้องเที่ยงธรรม และมีจิตสำนึกสาธารณะที่เล็งเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มุ่งมั่นที่จะช่วยแก้ไขปัญหา