มติชน : "หมอณรงค์"ปัดให้ข่าวโต้ตอบ"นพ.วินัย"ไปมาอีก เผย"สธ."เสนอทางแก้ปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่อง
จากกรณี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงปัญหามีโรงพยาบาลขาดทุนกว่า 100 แห่ง โดยอ้างสาเหตุมาจากการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดสรรงบโอนเงินไปมา และโอนเงินให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ขัดกับหลัก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งส่งผลให้ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. ต้องออกมาชี้แจงและตอบโต้ว่า ปลัด สธ.อาจจะรู้ข้อมูลน้อย หรือไม่เข้าใจ พร้อมทั้งได้เรียกประชุมผู้แทนโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาทางการเงินเข้าร่วมหารือทางออกในวันที่ 12 ธันวาคมนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 ธันวาคม นพ.ณรงค์ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลในพื้นที่ จ.พัทลุง โดยผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อขอสัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้ แต่อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามผู้ใกล้ชิดกับระบุว่า นพ.ณรงค์ไม่ต้องการให้ข่าวตอบโต้ไปมาอีก และว่า ทาง สธ.ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาโรงพยาบาลที่ประสบปัญหาทางการเงิน โดยเสนอให้ สปสช.จัดสรรงบประมาณรูปแบบใหม่ นอกจากผ่านเขตสุขภาพแล้ว ยังต้องมีการกันเงินเฉพาะสำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ในภาวะวิกฤตการเงินระดับ 7 ในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย หรือประชากรเบาบาง โดยให้เงินอย่างเพียงพอสำหรับโรงพยาบาลกลุ่มนี้ ไม่ต้องคำนวณงบตามสัดส่วนประชากร เพื่อให้โรงพยาบาลอยู่รอดได้
วันเดียวกันนี้ ที่โรงแรมที เค พาเลซ สปสช.ได้เชิญผู้แทนโรงพยาบาลในสังกัด สธ.136 แห่ง ที่ประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินเข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของ สปสช.ตามที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ. มอบหมายให้ดำเนินการ ปรากฏว่ามีตัวแทนโรงพยาบาลเข้าร่วมเพียง 60 แห่งเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาล อาทิ รพ.พบพระ รพ.บ้านตาก จ.ตาก รพ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ รพ.พิชัย รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ รพ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ฯลฯ
นพ.วินัยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้แม้จะมีผู้แทนโรงพยาบาลเข้าร่วมเพียง 60 แห่ง จากข้อมูลโรงพยาบาลที่ประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน 136 แห่ง แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่ม เพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นทาง สปสช.ได้ขอข้อมูลทางการเงินย้อนหลัง 3 ปี เพื่อให้ทราบในรายละเอียดว่าแต่ละโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดสภาพคล่องมากน้อยแค่ไหน และมาจากสาเหตุอะไร เพราะหากมาจากระบบบัญชีก็สามารถแก้ไขได้ไม่ยาก เพราะบางครั้งอาจเป็นเพียงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในการจัดทำระบบบัญชี แต่หากมาจากรายรับ คือกลไกทางการเงินของ สปสช. ก็ต้องมาพิจารณาว่าเป็นที่จุดใด
"ภายในกลางเดือนธันวาคมนี้ทาง สปสช.เตรียมลงพื้นที่สอบถามปัญหา และขอรับทราบข้อมูลในระดับพื้นที่ โดยจะมอบหมายให้ สปสช.สาขาเขตต่างๆ ออกตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลในพื้นที่เขตละ 10 แห่ง" นพ.วินัยกล่าว และว่า ส่วนแผนระยะยาวในการแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินนั้น ได้เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในวันที่ 15 ธันวาคม เพื่อขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการกลางในการตรวจสอบปัญหาโรงพยาบาลที่ขาดทุนว่าในแต่ละไตรมาสมีโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดสภาพคล่องกี่แห่ง แบ่งเป็นระดับใดบ้าง รุนแรงขนาดไหน ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช.กับสำนักงานปลัด สธ. และอาจมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่เพื่อดูปัญหาของโรงพยาบาลนั้น อยากให้ สธ.เข้าร่วมด้วย โดยจะมีการหารือกับรัฐมนตรีว่าการ สธ.ในความร่วมมือครั้งนี้ต่อไป
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 13 ธันวาคม 2557
- 4 views