สปสช.ประชุมรพ.ขาดทุนระดับ 7 มี 47 รพ.เข้าประชุม เผยวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีเบื้องต้นจากเว็บไซต์กลุ่มประกันสุขภาพ สธ.พบ สถานะการเงิน รพ.ไตรมาส 4 ปี 57 รพ.ขาดทุนวิกฤตระดับ 7 มี 70 แห่ง หากบวกงบลงทุนเหลือ 42 แห่ง แย้งข้อมูล ปลัดสธ. ด้าน “หมอวินัย” เตรียมชง “หมอรัชตะ” ตั้ง “คกก.แก้ปัญหา รพ.สป.สธ.ขาดทุน” สัปดาห์หน้า
12 ธ.ค.57 ที่โรงแรมทีเค.พาเลช กรุงเทพฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้จัดประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำนินงานของ สปสช. ภายหลังจากที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยข้อมูลสถานะการเงิน รพ.ในสังกัด ซึ่งพบว่ามี รพ. 105 แห่งที่ประสบภาวะขาดทุนวิกฤตระดับ 7 ขณะที่ข้อมูลจากรักษาการประธานกลุ่มรพ.วิกฤตการเงินระดับรุนแรง ระบุว่ามี 136 แห่ง จึงได้เชิญ ผอ.รพ.ที่อยู่ในกลุ่มวิกฤติขาดทุนระดับ 7 เข้าร่วม ปรากฎว่ามีรพ.เข้าร่วม 47 แห่ง ส่วนใหญ่ต่างส่งตัวแทนเข้าร่วม มี ระดับ ผอ.รพ.เพียง 3-4 คน
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นไปตามที่ สปสช.ได้รับมอบหมายจาก ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน เริ่มจากการดูข้อมูลทางบัญชีย้อนหลัง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการร่างหนังสือเพื่อเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข จัดตั้ง “คณะกรรรมการอำนวยการปรับปรุงสถานะทางการเงินของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.)” โดยประกอบด้วยผู้บริหาร สธ. และ สปสช. และผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลและแก้ไขวิกฤตการเงินโรงพยาบาล ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอได้ในสัปดาห์หน้านี้ และหลังจากนี้ยังจะมีกลไกระดับพื้นที่เพื่อลงไปตรวจสอบโรงพยาบาลที่ประสบภาวะขาดทุน
“ปัญหา รพ.ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง เป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข และต้องมีการวางระบบเพื่อดูแลต่อเนื่อง ทั้งนี้การบริหาร รพ.มีทั้งรายรับและรายจ่ายที่ต้องทำควบคู่ให้มีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้ในที่ประชุม นพ.นิพนธ์ โตวิวัฒน์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบบัญชีการเงินโรงพยาบาล อดีตรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชี รพ. 136 แห่งที่อยู่ในสถานะการเงินวิกฤตระดับ 7 จากเว็บไซต์กลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดยพบว่าโรงพยาบาลที่มีตัวเลขที่อยู่ในระดับทุนระดับ 7 ในไตรมาส 4 ปี 2557 มีเพียง 70 แห่งเท่านั้น ซึ่งหากรวมงบลงทุนโรงพยาบาลจะเหลือเพียง 42 แห่ง ซึ่งค้านกับข้อมูลที่ทาง สธ.นำเสนอ 105 แห่ง ก่อนหน้านี้ พร้อมระบุว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากการทำบัญชีของโรงพยาบาลที่ทำให้ตัวอยู่ในภาวะติดลบ อย่างไรก็ตามมี รพ.บางแห่งที่อยู่ในสภาวะขาดทุนจริงที่มาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งพื้นที่โรงพยาบาลและจำนวนประชากร เป็นต้น
- 4 views