ปลัดสธ.ให้สสจ.ทุกแห่งทั่วประเทศเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคสุกใสอย่างใกล้ชิดตลอดฤดูหนาว ในรอบ 11 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยเกือบ 8 หมื่นราย เฉลี่ยวันละ 244 ราย เสียชีวิต 1 ราย สัญญาณป่วยปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 37 กลุ่มที่น่าห่วงที่สุดและต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง เบาหวาน หากติดเชื้อจะมีความเสี่ยงอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น หากป่วยให้หยุดเรียน หยุดพักทำงาน จนกว่าผื่นตกสะเก็ดหมดแล้วอย่างน้อย 1 วัน เมื่อหายป่วยแล้ว จะมีโอกาสเป็นงูสวัดได้สูงกว่าคนทั่วไป หากไม่ดูแลสุขภาพหรือร่างกายอ่อนแอ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูหนาวนี้ อากาศหนาวเย็น โรคที่มีความเสี่ยงจะระบาดได้ง่ายก็คือ โรคอีสุกอีใส (Chickenpox) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส เชื้อชนิดนี้ชอบสภาพอากาศเย็นชื้น ในปี 2557 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง 22 พฤศจิกายน 2557 สำนักระบาดวิทยา มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 79,301 ราย เฉลี่ยวันละ 244 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อายุ 7-24 ปี จำนวนผู้ป่วยมากกว่าปี 2556 ตลอดทั้งปีร้อยละ 37 เป็นสัญญาณว่าโรคอาจแพร่ระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้ได้ ประชาชนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคทุกวัย มีโอกาสป่วยได้ กลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็ง เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ หากติดเชื้อแล้ว อาจมีความเสี่ยงอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ในปีนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว 2,574 ราย ขณะที่ในปี 2556 เด็กกลุ่มนี้ป่วยเพียง 1,712 ราย  ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคอีสุกอีใสอย่างใกล้ชิด และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน ในการป้องกันการเจ็บป่วย และให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เพิ่มมาตรการการดูแลผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด 

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา (Varicella) เป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายทางการไอ จาม หายใจรดกัน หรือการสัมผัส รวมทั้งการใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ที่นอน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น หลังติดเชื้อประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะมีอาการป่วย  หากเป็นเด็กเล็ก จะเริ่มจากมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ มีผื่นขึ้นพร้อมๆกับวันที่เริ่มมีไข้หรือขึ้นหลังมีไข้ 1 วัน บางรายมีตุ่มขึ้นในปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย ในระยะแรกจะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ต่อมาผื่นจะกลายเป็นตุ่มใส และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขุ่นคล้ายหนอง แล้วกระจายไปตามใบหน้า แผ่นหลัง และช่องปาก หลังจากนั้นประมาณ  2-3 วัน ผื่นจะตกสะเก็ด  โดยอาการจะหายได้เองภายใน 1-3 สัปดาห์  

โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ จะใช้วิธีการดูแลประคับประครองอาการที่บ้านได้  เช่น ให้รับประทานยาพาราเซตามอล ลดไข้ ร่วมกับการเช็ดตัว รับประทานอาหารตามปกติ ที่สำคัญคือต้องพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ในเด็กอาจให้รับประทานไอศกรีมก็ได้ ยาลดไข้ที่ไม่ควรรับประทานคือยาแอสไพริน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่เรียกว่าไรย์  ซินโดรม (Reye’s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของสมองและตับเป็นอันตราย

ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ หลังจากพักผ่อนแล้ว อาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้สูง คันมีผื่นตามตัวมากขึ้น หายใจหอบ ชัก ซึมลง แก้วหูอักเสบ ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคอีสุกอีใสนี้  ป้องกันได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากผู้ป่วย สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนผื่นขึ้น 1-2 วัน จนถึงระยะผื่นตกสะเก็ด วิธีการป้องกันไม่ให้เชื้อติดคนอื่นที่ดีที่สุดคือ ให้หยุดเรียน หยุดงาน จนกว่าผื่นตกสะเก็ดหมดแล้วอย่างน้อย 1 วัน การป้องกันที่ได้ผลในปัจจุบันคือ การฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 1-12 ปี กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค ลดอาการรุนแรงโรค ผู้ประสงค์จะฉีดต้องจ่ายเงินเอง เพราะวัคซีนชนิดนี้ยังไม่บรรจุในวัคซีนพื้นฐาน ผู้ที่เป็นโรคสุกใสแล้ว จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต โดยเชื้อชนิดนี้ไปหลบซ่อนตัวที่ปมประสาท หากร่างกายมีอ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่ำ จะเสี่ยงเกิดโรคงูสวัดได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เป็น เนื่องจากเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค โทร. 02 590 3163 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422