รมช.สธ. เร่งผลักดันโรงพยาบาลทั้งรัฐ เอกชน เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และเป็นโรงพยาบาลลดโลกร้อน เพื่อให้เป็นสถานบริการส่งเสริมสุขภาพแก่ประชาชน เป็นต้นแบบชุมชนในการลดการเกิดก๊าชเรือนกระจกที่ส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างสุขภาพดีลดการเจ็บป่วย
27 พ.ย.57 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อน และมอบเกียรติบัตร โล่ เพื่อเชิดชูเกียรติแก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อน 239 แห่ง โดยมีผู้บริหารโรงพยาบาล บุคลากรสาธารณสุขร่วมประชุม 600 คน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุขครบ 72 ปี ซึ่งที่ผ่านมาการจัดระบบบริการสาธารณสุขส่วนใหญ่จะเน้นด้านดูแลการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยแล้ว ประชาชนไทยมีหลักประกันสุขภาพเกือบร้อยเปอร์เซนต์ ถือเป็นความสำเร็จที่ได้รับการชื่นชมจากทั่วโลก ก้าวย่างต่อไปที่กระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการ คือ เร่งผลักดันการปรับระบบบริการของโรงพยาบาลให้เคลื่อนไปในทิศทางของการส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน ผสมผสานการป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพ เพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชน โดยมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลภาครัฐทั้งในและนอกสังกัดรวมทั้งภาคเอกชน ก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ และโรงพยาบาลลดโลกร้อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างกระแสความตื่นตัวต่อการดำเนินกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนให้กับประชาชน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขจนนำไปสู่การเป็นต้นแบบลดโลกร้อนและขยายผลสู่สังคมไทยต่อไป
สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพนั้นจะเพิ่มกลไกการทำงานเชิงรุกใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ให้บริการ จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ทำให้บุคลากรมีสุขภาพดีเป็นต้นแบบด้านสุขภาพ 2.กลุ่มผู้รับบริการ ครอบครัวและญาติ จะได้รับความรู้และการเสริมพลังในการดูแลตนเอง 3. สิ่งแวดล้อม ปรับสภาพภายในโรงพยาบาลให้เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพ และ4.ชุมชนได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความเข้มแข็ง มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสุขภาพ ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพให้เทียบเคียงมาตรฐานสากลและเป็นเกณฑ์คุณภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ ขณะนี้มีโรงพยาบาล ที่ดำเนินการตามเกณฑ์โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติแล้ว 103 แห่ง
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัยกล่าวว่า สถานบริการสาธารณสุขมีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมากทำให้ มีเศษอาหาร สิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอย อันก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน กรมอนามัยได้จัดทำโครงการสาธารณสุขรวมใจ รณรงค์ลดโลกร้อนด้วยการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้ 2 หลักการกรีน (GREEN) และกลยุทธ์คลีน (CLEAN) เริ่มตั้งแต่พ.ศ.2553 เป็นต้นมา โดยเน้นการจัดการขยะมูลฝอยและใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูล การพัฒนาส้วมในสถานบริการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสะอาด ปลอดภัยและเพียงพอ(HAS) ลดการใช้สารเคมี การลดใช้พลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมการจัดสิ่งแวดล้อมในสถานที่ทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพเช่นปลูกต้นไม้ดูดสารพิษ รณรงค์อาหารปลอดสารพิษ สนับสนุนให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ปลูกผักปลอดสารพิษ ลดการใช้สารเคมี เพื่อใช้ในชุมชน และพัฒนาโปรแกรมคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงาน หรือที่เรียกว่าคาร์บอน ฟุตพริ้น( Carbon footprint) เพื่อให้สถานบริการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานเพื่อวางแผนลดการดำเนินงานแก้ไข จนถึงขณะนี้มีสถานบริการสาธารณสุขในสังกัดและนอกสังกัดเข้าร่วมโครงการ 4,044 แห่ง และสามารถประกาศเป็นสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อน 171 แห่ง เช่น รพ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ผลสำเร็จ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมกันได้ถึง 12.71 ตันต่อปี หากสามารถดำเนินการในสถานบริการสาธารณสุขทั้งรัฐเอกชนที่มีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูบรรยากาศในประเทศไทยได้มากถึง 1 แสนตันคาร์บอนต่อปี
- 100 views