ในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ต้องบอกว่าเป็นปีร้อนแห่งแวดวงสาธารณสุข มีความเคลื่อนไหวหลายเรื่องที่เป็นประเด็นจัดหนัก ส่งผลกระทบทั้งต่อระบบสุขภาพ และหน่วยงานองค์กรต่างๆ ที่ดำเนินงานด้านสุขภาพ สำนักข่าว Health Focus จึงสรุป 10 ข่าวร้อน ปี 2558 นำเสนอ ดังนี้
1.ปรับ ครม.โละ “หมอรัชตะ-หมอสมศักดิ์” ตั้ง “หมอปิยะสกล” นั่ง รมว.สธ.
หลังจากที่ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ได้นั่งบริหารในตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข เป็นเวลารวม 11 เดือน (รับตำแหน่ง 13 ก.ย. 57) ต้องบอกว่านอกจากผลงานที่ไม่เข้าตาแล้ว มีเพียงนโยบาย “หมอครอบครัว” ที่ดูจะโดดเด่นเท่านั้น ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในระบบสาธารณสุขได้ โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการบริหารงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ทำให้เกิดความวุ่นวาย และด้วยทั้งสอง รมต.สาธารณสุขที่ติดภาพฝั่งฝ่ายแพทย์ชนบท ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เป็นกลาง ไม่สามารถควบคุมความสงบในกระทรวงสาธารณสุขได้ ทั้งยังมีภาพความขัดแย้งกับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น ที่ต่างแยกกันทำงาน ส่งผลให้หลายครั้งต้องมีเรื่องร้อนไปยังนายกรัฐมนตรีที่ต้องส่ง ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ลงมาจัดการปัญหา
จากสถานการณ์ข้างต้นนี้ เป็นเหตุให้ทั้ง นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.ประยุทธ์ 3) และได้มีการแต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เช่นเดียวกับ นพ.รัชตะ เข้าทำหน้าที่บริหารแทน และเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยได้รับเสียงตอบรับจากคนในแวดวงสาธารณสุขในด้านฝีมือการบริหาร และลดดีกรีความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขลงได้ ทั้งยังเป็นยุคที่มีเพียงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขเท่านั้น ไม่มีตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ทำให้มีการแต่งตั้งเลขาและคณะที่ปรึกษาชุดใหญ่ขึ้นมาช่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างเป็นข้าราชการระดับสูง ระดับรองปลัด สธ. และอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัด สธ.มาก่อน
ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญที่ได้รับมอบหมายในการรับตำแหน่งครั้งนี้ คือ การแก้ไขปัญหางบเหมาจ่ายรายหัว ทั้งในด้านการจัดหาแหล่งงบประมาณที่ยั่งยืน การบริหารเพื่อลดความขัดแย้งระหว่าง สธ.และ สปสช. การแก้ไขปัญหากำลังคนในระบบสุขภาพ การแก้ปัญหาค่าตอบแทนในระบบ เป็นต้น
2.สังคมหวั่นยกเลิก 30 บาท กังวลร่วมจ่าย แถมถูกมองเป็นภาระประเทศ เร่งหาทางออกยั่งยืน
ปัญหางบประมาณ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ต้องบอกว่า ปี 2558 ยังเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องตลอดทั้งปี ด้วยงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 55,310 ล้านบาท ในปีเริ่มต้น 2545 เป็น 141,540 ล้านบาท ในปี 2557 สำหรับดูแลคน 48 ล้านคน ที่รวมเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐ แม้จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวประชากรที่ต่ำที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ แต่กลับถูกมองว่าเป็นภาระงบประมาณของประเทศ
ประเด็นร้อนนี้เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุถึงโครงการ 30 บาท งบประมาณไม่เพียงพอและเป็นต้นเหตุทำให้โรงพยาบาลเกิดปัญหาขาดทุน และมีแนวโน้มเป็นภาระงบประมาณ โดยขอให้คนชนชั้นกลางเสียสละใช้สิทธิ์โครงการนี้ให้กับคนจน จนถูกวิพาษ์วิจารณ์ถึงความไม่เข้าใจต่อหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของผู้นำประเทศ ที่เป็นนโยบายรัฐสวัสดิการ ทั้งยังไม่ให้ความสำคัญต่อสวัสดิการของประชาชน เพราะรัฐบาลกลับมีการพิจารณาเพื่อซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาทแทน จนในที่สุดนายกฯ ต้องยืนยันไม่ล้ม 30 บาท และมอบให้ รมว.สาธารณสุขขณะนั้นหาทางออกเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น
แม้ในประเทศจะวุ่นวาย แต่ในระดับนานาชาติกลับได้รับการชื่นชม เพราะด้วยเป็นนโยบายซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ส่งผลให้ในการประชุมนสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้รับเชิญกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมว่าด้วยเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : การส่งเสริมความเท่าเทียมในบริบทสุขภาพโลกและความมั่นคงของมนุษย์ในช่วงการพัฒนาภายหลังปี ค.ศ. 2015 โดยเป็นที่ชื่นชมของผู้เข้าร่วมประชุม เช่นเดียวกับในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 นายกรัฐมนตรียังได้แนะประเทศสมาชิกให้จัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ
อย่างไรก็ตามประเด็นงบ 30 บาท ต้องบอกว่าร้อนถึงสิ้นปี เพราะอีกเพียง 1-2 สัปดาห์จะพ้นปี 2558 จากการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ที่ระบุถึงปัญหางบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี 3 ระบบ คือ บัตรทอง ข้าราชการ และประกนสังคม แต่อาจจะด้วยการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน จึงกลายเป็นเรื่องว่า งบบัตรทองพุ่งสูง เป็นภาระ แม้ไม่ได้พูดเรื่องร่วมจ่ายชัดเจน แต่บอกว่าต้องเป็นประชารัฐ ไม่ใช่ให้รัฐดูแลฝ่ายเดียว ก็เกิดเป็นกระแสว่าจะให้มีการร่วมจ่าย ซึ่งกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและมองว่าจะเป็นการรื้อระบบบัตรทอง และเมื่อผนวกเข้ากับการแถลงผลงานของรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึง 30 บาทว่า "ในส่วนของงบประมาณกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นโครงการที่สุดยอด แต่รายได้ไม่มี" ก็ทำให้เกิดกระแสว่าจะล้ม 30 บาทขึ้นอีก
กระทั่ง นพ.ปิยะสกล ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันไม่มีแนวคิดนี้ซ้ำแล้วซำอีก และยังร้อนถึงนายกรัฐมนตรีที่ต้องออกมาย้ำว่าไม่มีการล้มบัตรทอง โดยในท้ายที่สุดหลังการรับฟังข้อเสนอคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจาก นพ.ปิยะสกล ได้ให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอบนหลักการ SAFE แล้ว ยังยืนยันว่าในปี 2559 นี้ จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
สำหรับในปี 2559 นี้ ครม.ได้อนุมัติปรับเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวที่ 3,028 บาทต่อประชากร หรือ 1.65 แสนล้านบาท จากเดิม 2,895 บาทต่อประชากรในปี 2558 แยกเป็นค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,011 ล้านบาท ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 6,318 ล้านบาท ค่าบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง บริการควบคุมความรุนแรงในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง และบริการผู้ป่วยจิตเวช 959 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยบริการ 1,490 ล้านบาทเศษ และค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐ 3,000 ล้านบาท ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 600 ล้านบาท
3.นายกฯ สั่งย้าย “หมอณรงค์” ช่วยงานสำนักนายกฯ
หลังจากที่มีกระแสข่าวมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2558 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีในการย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มาช่วยงานยังสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒินายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่สนองต่อนโยบายรัฐบาลและ รมว.สาธารณสุข ทั้งนี้ที่มาที่ไปของคำสั่งย้ายนี้ เป็นผลจากปัญหาความวุ่นวายภายในกระทรวงสาธารณสุข ที่มาจากความขัดแย้งในการบริหารงบบัตรทอง ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน โดยเฉพาะในช่วงที่ นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ เข้ารับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข ซึ่งมีภาพแยกกันทำงานที่ชัดเจน และไม่สามารถร่วมงานกันได้ ซึ่งถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขอย่างยิ่ง โดยกระแสข่าวการย้าย นพ.ณรงค์ ต้องบอกว่ามีมาโดยตลอด แต่เนื่องจาก นพ.ณรงค์ เป็นผู้ที่ได้รับมอบนกหวีดทองคำ เป็นเหตุให้มีความพยายามไกล่เกลี่ยและชะลอออกไปก่อน
ภายหลังจากที่มีคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ขณะที่ด้านประชาคมสาธารณสุข และข้าราชการ สธ. ได้มีการแต่งดำเพื่อคัดค้าน และขอให้มีการปรับ นพ.รัชตะออกแทน พร้อมกับยื่นเรื่องต่อนายกฯ เพื่อขอให้ทบทวนและคืนตำแหน่งให้กับ นพ.ณรงค์ต่อเนื่อง กระทั่งในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 หรือเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน นายกรัฐมนตรีจึงได้ลงนามคำสั่งย้าย นพ.ณรงค์ กลับ สธ. โดยมีผลในวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลา 2 เดือนก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว นพ.รัชตะ ได้มีการแต่งตั้ง นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งภายหลังได้ปรับเปลี่ยนเป็น นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่รักษาการปลัดแทน
ทั้งนี้ หลังจากที่ นพ.รณงค์ เกษียณอายุราชการ ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี
4. สอบ สปสช. บริหารงบบัตรทอง แขวน “หมอวินัย” ช่วยงาน สำนักปลัด สธ.
งานนี้ต้องบอกว่าเป็นผลจากความขัดแย้งระหว่าง สธ. และ สปสช. ภายหลังจากที่มีการเปิดข้อมูลปัญหาขาดทุน รพ.สังกัด สธ. ที่โยงมายังการบริหารงบบัตรทองของ สปสช. โดย นพ.ณรงค์ ส่งผลให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าตรวจสอบการบริหารงบของ สปสช. โดยทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ย้าย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. โดยใช้อำนาจในมาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สปสช.ชั่วคราว ให้ไปปฏิบัติหน้าที่ยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขแทน โดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.ทำหน้าที่รักษาการแทน
สำหรับประเด็นการตรวจสอบ อาทิ การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุขขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย การนำเงินค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวไปใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในกรณีอื่นที่ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย, การบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งมีการจ่ายเงินให้กับหน่วยงานหรือองค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามกฎหมาย และการใช้จ่ายเงินงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานสาขาจังหวัด (สสจ.) ขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย การไล่เบี้ยหน่วยบริการกรณีเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล การจ่ายค่าตอบแทนที่เกี่ยวกับการล้างไตผ่านช่องท้องขัดต่อวัตถุประสงค์ตามกฎหมาย และมีผลประโยชน์จากการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์
อย่างไรก็ตามแม้ว่าผลสอบในท้ายที่สุดจะสรุปแล้วว่า การบริหารงบ สปสช. ไม่พบการทุจริต เป็นเพียงการใช้งบที่ไม่ถูกวัตถุประสงค์ตามกฎหมายเท่านั้น ซ้ำบางกรณียังเป็นการดำเนินการของหน่วยบริการและพื้นที่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฎคำสั่งย้าย นพ.วินัย กลับเข้าสู่ตำแหน่งแต่อย่างใด โดย นพ.วินัย จะหมดวาระตำแหน่งเลขาธิการ สปสช. ในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้
5.นายกฯ สั่งตรวจสอบงบ สสส. “หมอกฤษดา” ลาออก ผจก.สสส.
ปีนี้นับเป็นปีร้อนของ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” ตั้งแต่มีการจัดตั้งในปี 2545 ด้วยเป็นกองทุนที่งบประมาณมาจากภาษีบาป เหล้าและบุหรี่ ร้อยละ 2 โดยไม่ต้องนำเสนอผ่านสภาฯ ทำให้เป็นที่จับจ้องมาโดยตลอด พร้อมกับมีการวิจารณ์การใช้งบประมาณของ สสส.ไม่ถูกต้องวัตถุประสงค์ เป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ คตร. เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณของ สสส.
จากผลสอบ คตร.และ สตง.ก่อนหน้านี้ ระบุว่า จากการตรวจสอบพบการเบิกจ่ายอนุมัติงบประมาณของกองทุนที่มีการเบิกจ่ายให้บุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กร ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงโดยชัดเจนตามเจตนากองทุนฯ อาทิ งานสวดมนต์ข้ามปีที่ใช้งบถึง 33.45 ล้านบาท การจัดตั้งมูลนิธิและรับเงินอุดหนุนโดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งยังมีการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงการดำเนินงานเพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
งานนี้ทำเอา ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ภายหลังจากที่ได้ทำการแถลงข่าวชี้แจงข้อกล่าวหา คตร. พร้อมกับคณะผู้บริหารในประเด็นต่างๆ ได้เพียง 4 วัน ทั้งนี้ระบุว่า เพื่อเป็นการเปิดทางให้ คตร.เข้าตรวจสอบ และเป็นมาตรฐานสังคมต่อ โดยยืนยันว่าไม่มีเรื่องการทุจริต นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานและองค์กรที่รับทุนจาก สสส.ต่างออกมาชี้แจงเช่นกัน โดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหนึ่งที่ถูกตั้งข้อสังเกต เนื่องจากได้รับทุน สสส.ต่อเนื่อง 8 ปี รวมงบที่ได้รับ 96 ล้านบาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตามงานนี้ คตร.ยังได้มีหนังสือมอบหมายไปยังกระทรวงสาธารณสุข ให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกำหนดทิศทางการทำงานของ สสส. โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน
6. คสช. ใช้ ม.44 ยุบบอร์ด สปส.
เกินความคาดหมาย โดยเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 40/2558 เรื่อง การได้มาซึ่งคณะกรรมการประกันสังคม ที่ปรึกษาของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นการชั่วคราว ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. งานนี้นอกจากยุติการทำหน้าที่ของบอร์ด สปส.แล้ว ยังได้ยุติกระบวนการสรรหาบอร์ด สปส.ชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดการเลือกตั้ง รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทน
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงเหตุผลว่า เป็นการดำเนินการเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคม โดยเป็นสิ่งที่ต้องการกันมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาติดขัดในหลายประการ และมองว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้เกิดการปรับปรุงการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
7. ตั้ง คกก.แก้ปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชนแพง สุดท้ายแค่ปาหี่
ค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน เป็นปัญหาที่ทราบกันดีว่ามีการจัดเก็บในราคาที่แพงมาก โดยเฉพาะในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียงหายทางการแพทย์ จึงได้เดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชน 32,000 รายชื่อ และยื่นต่อ รมว.สาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เพื่อให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาราคารักษาพยาบาลแพง โดยมี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เป็นประธาน ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา คือ
1.ประสานกับ รพ.เอกชน นำอัตราค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าบริการต่างๆ ขึ้นเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลตัดสินใจเลือกรับบริการ
2.การติดราคายา โดยตั้งคณะกรรมการทุกภาคส่วนมาพิจารณาเพื่อควบคุมราคายาไม่ให้สูงจนเกินไป โดยคำนวณจากต้นทุน และกำไรสูงสุดที่จะบวกเพิ่มต้องไม่เกินเท่าไร กี่เปอร์เซ็นต์
ส่วนแนวทางการรักษาฉุกเฉินนั้น มอบสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดนิยามเป็นมาตรฐานเดียวกัน หากกรณีสงสัยสามารถออนไลน์สอบถามโดยตรงที่ สพฉ. เบื้องต้นกำหนดเจ็บป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง ไม่เสียค่าใช้จ่าย หากต้องนอน รพ.นานกว่านั้นให้ส่งต่อ รพ.ต้นสังกัดตามสิทธิรักษา
อย่างไรก็ตามมาตรการที่ออกมานี้ ได้รับการวิจารณ์จากภาคประชาชนว่า ไม่แก้ปัญหาและไม่ตอบโจทย์ค่ารักษาแพง ทั้งกรณีการจัดทำเว็บไซต์แสดงราคาและการติดฉลากยา และมองว่าการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาชุดนี้เป็นเพียงแค่การเล่นปาหี่เท่านั้น เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงและตรงประเด็น
8. วิชาชีพสุขภาพ ร่วมประกาศสิทธิผู้ป่วย
หลังจากที่มีการใช้ประกาศสิทธิผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลานานถึง 17 ปี ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มวิชาชีพสุขภาพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ และนักกายภาพบำบัด ได้ร่วมกันจัดทำ “คำประกาศสิทธิและข้อพึ่งปฏิบัติของผู้ป่วย” ฉบับใหม่ พร้อมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดย นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายแพทยสภา ระบุว่าเพื่อเป็นการปรับปรุงคำประกาศสิทธิผู้ป่วยให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรมและความก้าวหน้าทางการแพทย์ จึงต้องปรับปรุงให้เป็นสากลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เรื่องสิทธิที่ชัดเจนขึ้น และที่สำคัญคือประชาชนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบด้วย
นอกจากนี้ยังเป็นไปเพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจว่า บุคลากรทางด้านสุขภาพไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพได้ทุกอย่าง บางครั้งมีข้อจำกัดไม่มีอะไรที่ 100 เปอร์เซ็น อีกทั้งในกรณีที่บุคลากรทางด้านสุขภาพให้คำแนะนำผู้ป่วยปฏิบัติแต่ผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตาม แล้วต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิต ตรงนี้อาจไม่สามารถมาเรียกร้องค่าเสียหายได้ จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ป่วยต้องร่วมมือกับบุคลากรทางด้านสุขภาพในการดูแลรักษาสุขภาพตนเอง
พร้อมระบุด้วยว่า จากคำประกาศนี้จะทำให้บุคลากรทางด้านสุขภาพกับผู้ป่วยมีเข้าใจอันดีต่อกัน โดยผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจ ปฏิบัติตามประกาศ มีส่วนร่วมและช่วยกันในการรักษาพยาบาลดูแลตนเองมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ปัญหาความไม่เข้าใจต่างๆ หมดไป
อย่างไรก็ตามการออกประกาศนี้ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากฝั่งเครือข่ายผู้ป่วยที่มองว่า ไม่เพียงแต่ไม่ได้เป็นการคุ้มครอง แต่ยังจะเป็นการริดรอนสิทธิผู้ป่วยและยังซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น เพราะในประกาศมีนัยยะที่ผู้ให้บริการจะไม่รับผิดชอบใดๆ กรณีมีความเสียหายจากการรักษาเกิดขึ้น เป็นการปกป้องวิชาชีพกันเอง นอกจากนี้ในการออกประกาศฉบับนี้ยังขาดการมีส่วนร่วมจากฝั่งผู้ป่วย
ขณะที่ความเห็นจากนักวิชาการ อย่าง ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มองว่าเป็นปฏิบัติการใจดำจากฝั่งวิชาชีพ และรู้สึกเป็นห่วงสถานการณ์จากนี้ พร้อมเสนอแนะให้มีการติดตามและทบทวนประกาศฉบับนี้
9. เรื่องวุ่นของการตีความผลวิจัย TDRI คนไข้บัตรทองตายสูงสุดจริงหรือไม่
ในรอบปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าสถานการณ์บัตรทองร้อนฉ่า หลังสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDIR) ได้นำเสนอผลการวิจัย เรื่อง “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” โดย ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร และคณะจากทีดีอาร์ไอ ซึ่งบางส่วนของงานวิจัยได้มีการเปรียบเทียบอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยพบว่าผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยระบบสวัสดิการข้าราชการถึงร้อยละ 70 เป็นเหตุให้มีนักวิชาการนำข้อมูลดังกล่าวเชื่อมโยงถึงคุณภาพการรักษาในระบบบัตรทอง โดยระบุว่าเป็นผลมาจากการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของ สปสช. โดยกล่าวหาในประเด็น การจัดซื้อยาเหมาโหล การจำกัดการรักษาของแพทย์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
อย่างไรก็ตามได้มีความเห็นจาก นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะนักระบาดวิทยา ซึ่งมองว่า งานวิจัยชิ้นนี้หากมองในเชิงระบาดวิทยา เป็นเพียงแค่การตอบโจทย์ความต่างของค่ารักษาเท่านั้น ไม่สามารถวัดคุณภาพการรักษาได้ เพราะหากจะวัดในด้านคุณภาพระหว่างระบบแล้ว กลุ่มประชากรตัวอย่างและจุดเริ่มต้นเวลาสำรวจที่ใช้กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายก่อนเสียชีวิต 1 ปี คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบได้
โดยข่าวนี้ปิดท้ายด้วย TDRI ในฐานะเจ้าของงานวิจัย ได้มีชี้แจงถึงงานวิจัยดังกล่าวว่า เป็นการจัดทำเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของประเทศเพื่อมุ่งไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบ ไม่ได้มุ่งเปรียบเทียบอัตราการตายในกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือเปรียบเทียบว่าระบบใดดีกว่ากัน เพราะหากเปรียบเทียบดังกล่าวกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการสำรวจต้องมีสถานะที่เท่าเทียมกัน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จึงใช้อ้างอิงวัดคุณภาพบัตรทองไม่ได้
10. ครม.อนุมัติเพิ่มคนไร้สถานะ 208,631 คน ได้สิทธิรักษากองทุนคืนสิทธิ
ภายหลังจากที่ ครม.ได้มีมติ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้มีการจัดตั้ง “กองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ” เพื่อเป็นกองทุนรักษาพยาบาลเฉพาะกิจ ในการดูแลสิทธิรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิ์ โดยกองทุนนี้ปัจจุบันดูแลประชากร 4.5 แสนคน แต่เนื่องจากที่ผ่านมายังมีกลุ่มคนที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ที่ตกค้าง ดังนั้นเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 ในการประชุม ครม. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงได้อนุมัติเพิ่มกลุ่มคนรอการพิสูจน์ถสานะและสิทธิ์อีกจำนวน 208,631 คน ให้ได้รับสิทธิ์นี้
สาระสำคัญของการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ชั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลเป็นการเพิ่มเติม ประกอบด้วย บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) แล้ว รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวมีเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร ท.ร. 38 ก ได้แก่
1.ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมายกลุ่มที่ 1 ของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล
2.บุตรของบุคคลตามกลุ่มเป้าหมายของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล
และ 3. บุคคลกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในโครงการเฉพาะ เช่น บุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา
สำหรับการคืนสิทธิ์ด้านสาธารณสุขให้กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิครั้งนี้ นอกจากช่วยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขแล้ว ยังช่วยลดภาระค่ารักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการที่ต้องแบกรับ
อย่างไรก็ตามในส่วนของเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจและดำเนินการให้สิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาแล้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 จำนวน 67,511 คน โดยเป็นกลุ่มขึ้นทะเบียนที่มีตัว G นำหน้า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อขออนุมัติ ครม.เพิ่มเติม ภายหลังจากที่ได้ทำการยืนยันความถูกต้องการรับรองขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าว
- 360 views