นสพ.โพสต์ทูเดย์ : น่าจับตาการลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)สำนักงานประกันสังคม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กรมบัญชีกลาง และกลุ่มสถาบันแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทยเพื่อ "พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล" ให้เกิดขึ้นจริง
เป้าหมายที่ตั้งไว้ คือในปี 2558 โรงพยาบาลนำร่องทั้งหมด 57 แห่ง จะต้องมีการใช้ยาอย่างเป็นมาตรฐาน คุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง หลังจากเกิดปัญหาการใช้ยาที่ฟุ่มเฟือย สร้างภาระให้กับงบประมาณ และยังส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชนต่อเนื่องมานานหลายปี
นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ภาควิชาเภสัชวิทยาคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างว่าการใช้ยาไม่สมเหตุผล มีตั้งแต่การที่หมอเน้นจ่ายยาปฏิชีวนะ รักษาทุกอาการ ทั้งที่โดยหลักการไม่ควรให้คนไข้รับยาปฏิชีวนะเกิน 20% แต่ในบ้านเรามีการจ่ายยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลรัฐสูงถึง 56% และในโรงพยาบาลเอกชนมีการจ่ายสูงถึง 80-90% ทำให้โรคง่ายๆ รักษาด้วยยายากขึ้น หรือการจ่ายยาแก้ปวดชนิดเอ็นเซด ซึ่งส่งผลเสียต่อกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการความดันในเลือดสูง หรือโรคเบาหวานเป็นต้น ไม่นับรวมถึงปัญหาเป็นที่ถกเถียงกันก่อนหน้านี้อย่างการจ่ายยาพาราเซตามอลเกินความจำเป็น เช่น ให้คนไข้กินยา 2 เม็ด ทั้งที่มีน้ำหนักไม่ถึงเกณฑ์ จึงส่งผลเสียต่อตับมานานหลายสิบปี
"ทั้งหมดนี้เกิดจากการไม่มีระบบตรวจสอบมาตรฐานยา เช่น การตั้งค่ามาตรฐานในคอมพิวเตอร์ว่า หากคนไข้ป่วยเป็นโรคนี้ ต้องจ่ายยาชนิดนี้ โดยที่ไม่มีการประเมินเพิ่มเติมว่า คนไข้เคยรับยาอะไรไปแล้วบ้าง หรือมีสัดส่วนน้ำหนักตัวเหมาะกับยาหรือไม่ขณะที่ปัญหาสำคัญอีกอย่างคือการตัดสินใจของแพทย์ซึ่งมักจะใช้ยาดี ราคาแพง เป็นหลัก โดยที่ไม่ได้ถูกประเมินว่าเหมาะสมหรือไม่ ปัญหานี้ทำให้ค่าใช้จ่ายของรัฐในระบบยาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นพ.พิสนธิ์กล่าว
ทั้งนี้ ภายใน 1 ปี ในโรงพยาบาลนำร่องจะมีการกำหนดมาตรฐาน เป็นต้นว่า ผู่ป่วยควรรับยาอะไรขณะเดียวกันจะมีการประเมินว่า ผลที่ได้รับ จะสามารถทำให้การใช้ยาเป็นไปอย่างคุ้มค่า ลดการเจ็บป่วยลงได้หรือไม่ โดยหน่วยงานอย่าง สรพ.จะเป็นผู้ร่วมประเมินเกณฑ์
ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) บอกว่าการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลเกิดขึ้นทั้งจากการขาดระบบฐานข้อมูลการใช้ยา รวมถึงระบบส่งเสริมการขายโฆษณา ประชาสัมพันธ์ที่เกินจริง และปัญหาใหญ่อย่างทัศนคติของแพทย์ รวมถึงผู้บริโภคว่าจำเป็นต้องใช้ยา "ไฮคลาส" เท่านั้นในการรักษา
"เรื่องจริงที่เราพบ ก็คือ ในโรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย เมื่อแพทย์จะจ่ายยาให้คนไข้จะต้องใช้ยาที่แพงที่สุดเสมอ แต่คนเหล่านี้เวลาไปเปิดคลินิกจะจ่ายแต่ยาสามัญ ซึ่งมีราคาถูกกว่า แต่ให้ผลการรักษาไม่ต่างกัน" ภญ.นิยดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ ภญ.นิยดา จะสนับสนุนการดำเนินงานตามเอ็มโอยูดังกล่าว แต่ก็ยังแสดงความกังวลในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการกำหนดชุดความรู้มาตรฐาน ที่ไม่มีหน่วยงานเป็นแกนกลางลงไปตรวจสอบ และการใช้กลไกของอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผล อาจไม่เพียงพอ เพราะอาจต้องอาศัยอำนาจและกลไกการตรวจสอบที่จะประสานงานทุกส่วนเข้าด้วยกันขณะเดียวกันความเห็นเรื่องชุดความรู้ หรือการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลยังคงหลากหลาย เพราะผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านยังมองรูปแบบการรักษาที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ ชุดความรู้ของผู้บริโภคเองก็ยังแตกต่างเพราะความรู้เรื่องยายังคงมีมากจนทำให้สับสนว่าความรู้ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และสำคัญที่สุดคือระบบประเมินผลและตรวจสอบจะทำงานได้จริงหรือไม่
"ในออสเตรเลีย มีการแบ่งบทบาทชัดเจนว่า และทั้งหมดทำงานเชื่อมโยงกัน แต่เรายังมีช่องว่างระหว่างหน่วยงาน อาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนทำงานต้องคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร" ภญ.นิยดา ระบุ
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557
- 8 views