บุคลากรสาธารณสุขหารือแนวทางเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย สร้างหลักการ SIMPLE ป้องกันผู้ป่วยจากการผ่าตัดและการติดเชื้อ แพทย์เตือนการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล เร่งสร้างความรู้หมอ-พยาบาลก่อนสั่งยาที่กระทบผู้ป่วย ป้องกันการยิงยา
เพื่อลดความผิดพลาดในการรักษาที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย ในวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก (Global Day of Patient Safety) และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย (Thailand Patient and Personnel Safety Day) 17 กันยายน 2560 สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) (องค์การมหาชน) จึงได้จัดวงสนทนาแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็น ทั้งบุคลากรสาธารณสุขและภาคประชาชน เพื่อวางเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยของประเทศไทย (Patient Safety Goals)
โดยทาง สพร. กับคณะทำงาน 2 ส่วนคือคณะทำงานพัฒนาเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วยและคณะทำงานพัฒนาเป้าหมายความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข ได้ร่วมกันวางแนวทางในการสร้างความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ มีชื่อว่า SIMPLE ย่อมาจาก Safe Surgery, Infection Control, Medication and Blood Safety, Patient Care Process, Line Tube and Catheter and Laboratory และ Emergency Response
ทั้งนี้ในวงสนทนาย่อยหัวข้อตัวอักษร SIMPLE
S = Safe Surgery การผ่าตัดที่ปลอดภัย
S หรือการผ่าตัดที่ปลอดภัย มีการวางเป้าหมายที่จะลดข้อผิดพลาดและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ป้องกันได้จากกระบวนการผ่าตัด และเพิ่มการส่งเสริมการสื่อสารการทำงานเป็นทีมที่คำนึงถึงขั้นตอนความปลอดภัยที่สำคัญร่วมกัน โดยจะใช้วิธีตรวจเช็คเพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัด (Safe Surgery Checklist) ที่สอดคล้องกับการทำงานแต่ละแห่งและอาศัยการทำงานร่วมของศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และพยาบาล ตั้งแต่ก่อนเริ่มให้การระงับความรู้สึกจนถึงขั้นตอนก่อนผู้ป่วยออกจากห้องผ่าตัด
I = Infection Control การป้องกันการติดเชื้อ
I หรือการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งมีประเด็นที่หลากหลาย แต่จุดที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคมคือเรื่องเชื้อดื้อยา แผนนี้ตั้งเป้าว่าจะป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หนึ่งในมาตรการต่างๆ คือการกำหนดแนวทางการใช้ยาของโรงพยาบาลไม่ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น การเฝ้าระวังการติดเชื้อดื้อยาที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบรุนแรง โดยกำหนดเกณฑ์การวินิจฉัยการติดเชื้อดื้อยาที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานการติดเชื้อดื้อยาแก่ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น
M = Medication & Blood Safety ความปลอดภัยในการให้ยาและเลือด
ขณะที่หัวข้อตัวอักษร M หรือความปลอดภัยในการให้ยาและเลือด โดยมีเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (Rational Drug Use: RDU) เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งของหัวข้อสนทนา
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล คณะทำงานพัฒนาเป้าหมายความปลอดภัยของผู้ป่วย กล่าวว่า ปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย ยกตัวอย่างยาขายดี Etoricoxib ที่เป็นยาแก้ปวดที่มีราคาแพง แต่ถูกห้ามใช้ในคนที่มีความดันโลหิตสูง หากแพทย์ไม่ซักถามคนไข้หรือดูประวัติ อาจมีการจ่ายยาชนิดนี้ให้จนเกิดอันตรายต่อผู้ป่วย
“หรือยาบางตัวที่ห้ามไม่ให้จ่ายยาให้แก่หญิงมีครรภ์ บางรายมองไม่รู้ว่ากำลังมีครรภ์หรือไม่ ถ้าหมอไม่ถาม และคนไข้เองก็ไม่รายงาน ก็อาจจ่ายยาชนิดนี้ให้ ซึ่งทำให้ส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์”
ดังนั้น จึงต้องหามาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบในส่วนนี้ ผศ.นพ.พิสนธิ์ อธิบายว่าจะมีการนำแนวทาง PLEASE มาใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (P) การปรับปรุงฉลากยา จัดทำฉลากยาเสริม และการให้ข้อมูลยาแก่ผู้ป่วย (L) การจัดทำและการจัดหาเครื่องมือจำเป็นเพื่อการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (E) การสร้างความตระหนักรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลแก่บุคลากรในโรงพยาบาล (A) การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ (S) และการสร้างเสริมจริยธรรมในการสั่งใช้ยา (E)
“ในกลุ่มประชากรพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุที่อาจจะอ่านฉลากไม่เห็น ก็อาจต้องออกแบฉลากยาเป็นภาพที่ดูแล้วเข้าใจ หรือการเขียนชื่อยาเป็นภาษาไทยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอ่านได้ ส่วนเรื่องจริยธรรมในการสั่งยา ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยิงยา” ผศ.นพ.พิสนธิ์ อธิบาย
P - Process of Work การบริหารจัดการ
"เราต้องรู้สภาพความเสี่ยงของตัวเองก่อนไปดูแลผู้ป่วยที่ดูแลตัวเองไม่ได้" ฐิชภัค กองสิน พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ระบุความสำคัญของการบริหารจัดการ ซึ่งหากมีการดำเนินการที่ดีจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดความสูญเสี่ยหรืออัตราเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
ฐิชภัค กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ องค์ความรู้ของทุกคนในองค์กร ยกตัวอย่างง่ายๆอย่างวัณโรค ซึ่งปัจจุบันยังมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีระบบการดูแลสุขภาพบุคลากรไม่ดีพอ จึงเป็นปัญหานำไปสู่การเกิดโรคจากการทำงาน นอกจากนี้ การบริหารจัดการที่ไม่ดีจะทำให้เกิดการโยนงานกันไปมาทำให้งานไม่บรรลุผลอย่างที่ควรเป็นอีกด้วย
"ทุกคนต้องมาคุยกันเรื่องกฎหมาย เรื่องหลักวิชา แม้แต่ช่างหรือวิศวะก็ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกัน อย่างวัณโรค ถ้าเป็นนอกจากทำให้เสียเงินแล้ว บางคนอาจต้องลาออกไป เป็นการเสียบุคลากรที่ใช้ทั้งเงินและเวลาผลิต นอกจากนี้ยังสร้างความเสี่ยงสู่ผู้ป่วยอีกด้วย ดังนั้นการรู้ตัวเองและการตรวจสุขภาพบุคลากรเองจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ"
L - Lane (Ambulance) and Legal Issue การส่งต่อผู้ป่วยอย่างปลอดภัยรวมทั้งกรอบกฎหมาย
"มีการฟ้องรองแพทย์อย่างต่อเนื่อง บุคลากรสุขภาพจึงต้องทำความเข้าใจด้านกฎหมาย" นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายศรีปทุม มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าว นอกจากนี้ ยังระบุถึง 2 ประเด็นหลักที่บุคลากรทางการแพทย์จะต้องให้ความสำคัญมากๆได้แก่ หนังสือการยินยอมการรักษา และเวชระเบียน
"หนังสือยินยอมการรักษา คือ การที่แพทย์จะบอกกับคนไข้ว่าเป็นอะไร รักษาอย่างไร กระบวนการต่างๆเป็นอย่างไร เป็นทางเลือกว่าคนไข้จะรักษาแบบไหน หรือจะปฏิเสธการรักษา ส่วนเวชระเบียน ไม่ว่าคนผู้ป่วยจะรักษาหรือไม่ก็ต้องบันทึกไว้ หรือถ้ารักษาก็ต้องบันทึกให้ครบ เพื่อยืนยันว่าเป็นการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ"
นิติ ให้ความเห็นว่า คดีทางการแพทย์แตกต่างจากคดีฟ้องร้องทั่วไป เพราะเป็นเรื่องความเกี่ยวพันระหว่างคนไข้กับสหวิชาชีพ ไม่ว่าแพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ วิสัญญีแพทย์หรืออีกมากมาย ซึ่งมีพื้นฐานทางความคิดอยู่ที่การช่วยเหลือ ในขณะผู้ป่วยเองก็มีความเคารพให้สหวิชาชีพเหล่านี้ ดังนั้น จึงเป็นคดีที่มาจากความรักเคารพกัน แต่เมื่อเกิดคดีแม้เพียงหนึ่งคดีก็กระทบในหลายด้าน นอกจากกระทบคนไข้แล้ว ทางสหวิชาชีพก็อาจกระทบถึงขวัญกำลังใจ หลักการ รูปแบบการรักษา เหล่านี้จึงจำเป็นต้องการการเจรจามากกว่าการฟ้องร้องทางกฎหมาย
"หนังสือยินยอมรับการรักษาและเวชระเบียนที่บันทึกครบถ้วนคือความชัดเจนที่จะช่วยยืนยัน บอกต่อ หรืออธิบายถึงมาตรฐานการรักษาได้" นิติกล่าว
สำหรับในส่วนการส่งต่อหรือความปลอดภัยของรถพยาบาล พบว่า เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้สูญเสียบุคลากร โดยมีงานวิจัยพบว่า หากเกิดอุบัติเหตุ การกระแทกอุปกรณ์ต่างๆในรถพยาบาลจะเป็นสาเหตุในการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในขณะที่รถที่ดี มีการวางตำแหน่งที่นั่งและอุปกรณ์เหมาะสม จะสามารถรับแรงเหวี่ยงและลดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
E - Environment and Working Conditions การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยในการทำงาน
"แค่พูดจา จับตัว มองตา รู้จักพูด ขอโทษ ขอบคุณ แค่นี้ก็ความขัดแย้งก็ไม่เกิดขึ้นแล้ว" ณัฐวิมล วรรณโร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ให้ความเห็นถึง กรณีที่บุคลากรทางการแพทย์มักได้รับความเสี่ยงจากอารมณ์ของผู้รับบริการ เช่นเดียวกับวงแลกเปลี่ยนที่สะท้อนไปในทางเดียวกันว่า สื่อโซเชี่ยลเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกังวลมากและถือเป็นการคุกคามแบบหนึ่ง
"มองเรื่องนี้เป็นจุดแรก ปัจจุบันเป็นสังคมที่คนใช้โซเชี่ยลมีเดียทุกวันทำให้มองเห็นแต่ตัวเอง ผู้ให้บริการก็เช่นกัน ทุกคนต้องมีความเป็นเจ้าบ้าน ต้องให้การต้อนรับกับทุกคนที่ดีมาตามบริบทตรงนั้น"
อีกประเด็นหนึ่งที่ ณัฐวิมล เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญคือการทำงานอย่างมีความสุข อย่างพยาบาล หลายคนอาจมองว่าทำงานได้ค่าตอบแทนแล้ว แต่คนทำงานก็มีจิตใจและประสบปัญหาจากภาระงานหรือแรงกดดันต่างๆไม่น้อย หากทำงานอย่างมีความสุขจะย้อนกลับมาที่ร่างกายของบุคลากร และจิตใจที่พร้อมจะให้บริการคนไข้ด้วย
- 14441 views