หมอรักษาอีโบลาในแอฟริกาย้ำยังต้องระวังผู้หายป่วย หลังพบเชื้อยังอยู่ในอสุจินานหลายเดือน เสี่ยงแพร่เชื้อต่อได้ เตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ลงวารสารการแพทย์ระดับโลก แนะใช้เครื่องตรวจหาค่าเกลือแร่ผู้ป่วยอีโบลา เพื่อหาปริมาณสารน้ำที่เพียงพอในการรักษาผู้ป่วย ช่วยลดอัตราตายได้ 20% เตือน สธ.ระวังกลุ่มป่วยลักลอบกินยา อมน้ำแข็ง หวังลดไข้กลับประเทศ
6 พ.ย.57 เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านค้นคว้าและอบรมโรคติดเชื้อไวรัสสัตว์สู่คน และศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ ศ.นพ.ไมเคิล คาลาแฮน อาจารย์แพทย์จากโรงเรียนแพทย์ฮาร์เวิร์ด ในฐานะแพทย์ที่ทำงานและใประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับโรคติดเชื้อร้ายแรงทั่วโลก รวมทั้งเป็นหนึ่งในทีมอีโบลาในแอฟริกา ได้เดินทางมาประเทศไทยเมื่อ ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ไทยในการดูแลรักษาและเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องการแยกโรคอีโบลาออกจากโรคติดเชื้ออื่นที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องรู้นั้น ความรู้ใหม่ที่ ศ.นพ.ไมเคิลแนะนำคือ ประเด็นผู้ที่หายจากโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาแล้วยังคงต้องระมัดระวังในการใช้ชีวิต เนื่องจากในเชื้ออสุจิของผู้ชายจะยังมีเชื้ออีโบลาอยู่ ซึ่งเชื้อนี้สามารถอยู่ได้นานหลายเดือน แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะอยู่ในร่างกายไปอีกนานเท่าไร ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไป แต่ที่ต้องระวังคือ คนกลุ่มนี้เมื่อหายแล้วมักคิดว่าตัวเองเป็นปกติ เมื่อไปมีเพศสัมพันธ์ก็อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อและระบาดขึ้นมาต่อได้ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ จึงต้องให้ความรู้ผู้ที่หายป่วยแล้วว่า ตนยังมีสิทธิที่จะแพร่เชื้อต่อได้อีก จึงต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ตรงนี้นับเป็นความรู้ใหม่ที่จะมีการตีพิมพ์ลงในวารสารการแพทย์ระดับโลกในอีก 2-3 สัปดาห์นี้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นคือการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอีโบลา ซึ่งชัดเจนว่ายังคงต้องรักษาแบบประคับประคอง โดยการให้สารน้ำต่างๆ เนื่องจากแต่ละวันผู้ป่วยเสียน้ำในร่างกายไม่ต่ำกว่า 10 ลิตร ปัญหาคือจะให้ปริมาณสารน้ำทดแทนมากน้อยเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อการดูแลรักษา จึงมีการตรวจวัดค่าเกลือแร่ในเลือด ตับ และไตเพื่อดูความเข้มข้นและความผันผวน โดยเฉพาะค่าโพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณสารน้ำที่ต้องให้แก่ผู้ป่วย การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยลดอัตราผู้ป่วยเสียชีวิตลงได้ถึง 20% ซึ่งเครื่องตรวจนี้ประเทศไทยมีเตรียมพร้อมไว้แล้วที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งเครื่องตรวจนี้จะส่งผลการตรวจประเมินไปยังโทรศัพท์มือถือ ทำให้ทราบข้อมูลแบบดิจิตอล จึงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการใช้มือสัมผัสอุปกรณ์ในการเขียนผลตรวจ
"สำหรับการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่การระบาดนั้น สธ.จะต้องเข้มงวดมากขึ้น เพราะพบว่ามีกลุ่มที่ไม่ใช่คนท้องถิ่น เมื่อมีอาการป่วยแล้วพยายามหาทางเดินทางกลับมารักษายังประเทศของตนเอง เพราะมั่นใจในระบบสาธารณสุขในการรักษามากกว่า จึงหาทางเลี่ยงในการถูกกักตัวโดยการอมน้ำแข็ง ล้างหน้า กินยาลดไข้ เพื่อไม่ให้เครื่องเทอร์โมสแกนตรวจจับความร้อนได้ สธ.จะต้องคำนึงถึงในจุดนี้ด้วย" ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่แอริกาไม่ยินยอมถูกกักตัวหลังมีอาการป่วย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า จะต้องทำความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์ว่าหากป่วยจะต้องเต็มใจถูกกักตัว เพราะบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ อย่างที่แอฟริกาการดูแลผู้ป่วยจะต้องมีระยะห่างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร การสวมแว่นตาป้องกันก็ต้องสวมแบบคลุมทั้งหมด เพื่อป้องกันละอองฝอยจากการไอ จาม ของผู้ป่วย ฃลอยมาติดบริเวณเยื่อบุตา จมูก หรือปาก ซึ่งการที่บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้ออาจเนื่องมาจากขยับอุปกรณ์ป้องกันทำให้มีช่องว่างจนได้รับเชื้อในที่สุด นอกจากนี้ จะต้องห้ามมีแผลแม้แต่น้อย ซึ่งผู้ที่ดูแลผู้ป่วยจะต้องตัดเล็บให้สั้นก็ต้องมีการตรวจดูว่ามีแผลที่นิ้วหรือไม่ โดยการล้างมือกับสบู่แอลกอฮอล์
- 5 views