ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ : ความขัดแย้งในกระทรวงหมอเกิดขึ้นมานาน แต่ช่วงนี้ดูจะทวีความรุนแรงขึ้น สาเหตุหนึ่งเนื่องมาจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนไป การเข้าสู่โลกออนไลน์ของยุคดิจิตอล ทำให้หมอแต่ละคนต่างก็มีสื่อในมือของตนเอง เมื่อยิ่งโพสต์ ก็ยิ่งมีคนเห็น มีคนแชร์ จนสุดท้ายความขัดแย้งก็รุนแรงขึ้นหรือถึงขั้นสร้างความขัดแย้งประเด็นใหม่ขึ้นมาได้
และหากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเมื่อใด สงครามหน้าจอก็จะยิ่งร้อนระอุขึ้น!!
กล่าวสำหรับความขัดแย้งในกระทรวงสาธารณสุขช่วงนี้จะเห็นได้ชัดว่ามีอยู่หลายเรื่องราว ซึ่งแต่ละเรื่องราวก็ทวีความรุนแรงขึ้นเพราะการส่งสารผ่านสังคมออนไลน์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้มีการจัดสรรแบบใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายเขตสุขภาพ โดยเขตเป็นผู้จัดสรรงบประมาณของโรงพยาบาลในพื้นที่ แต่เม็ดเงินยังเป็น สปสช.ส่งไปยังโรงพยาบาลโดยตรง รวมไปถึงการยุบหมวดของงบกองทุนฯ ซึ่งเดิมทีมีอยู่ 9 หมวดให้เหลือเพียง 4 หมวด คือ งบบริการผู้ป่วยนอก งบบริการผู้ป่วยใน งบสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการและผู้รับบริการตามมาตรา 41 ซึ่ง สปสช.ยังยืนยันให้จัดสรรเช่นเดิม
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พี การยกระดับโรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งมีกลุ่มแพทย์ชนบทออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง กระแสการแบ่งแยกกับฝ่ายข้าราชการประจำอย่าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กับฝ่ายการเมืองคือ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข หลังจากที่ นพ.ณรงค์ได้แต่งตั้งทีมกุนซือ ซึ่งแพทย์ชนบทก็ออกมาตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการตั้งมาเพื่อชนกับทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรี สธ.
งานนี้เรียกได้ว่า "หมอณรงค์" ต้องรับศึกรอบด้าน แต่หากมองให้ดีจะเห็นว่าคู่กรณีที่เกิดขึ้นก็หนีไม่พ้นกลุ่มแพทย์ชนบท หรือหากพูดให้ชัดหน่อยก็คือเครือข่ายของ นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งเป็นหนึ่งในพี่ใหญ่ของกลุ่มแพทย์ชนบท และเป็นผู้นำขบวนในการปฏิรูปสังคม จนขยายออกมาเป็น "องค์กรตระกูล ส." ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สปสช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นต้น โดยคนที่เข้าไปคุมก็ล้วนแต่เป็นคนของแพทย์ชนบททั้งสิ้น ถือเป็นขั้วอำนาจใหญ่ขั้วหนึ่งในกระทรวงหมอเลยทีเดียว
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ภาพลักษณ์ของแพทย์ชนบทและองค์กรตระกูล ส. ถูกมองว่าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันอย่างแยกไม่ออก
และไม่แปลกที่เมื่อเห็นรายชื่อทีมที่ปรึกษาของรัฐมนตรี สธ.แล้วจึงถูกเชื่อมโยงว่ามีกลุ่มแพทย์ชนบทหนุนหลัง เพราะมีรายชื่ออย่าง นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.มงคล ณ สงขลา นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เข้ามาเป็นทีมที่ปรึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่แพทย์ชนบทยกย่องให้เป็นพี่ใหญ่และมีบารมีมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลือก "หมอรัชตะ" มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีก็เพื่อให้เป็นตัวกลาง และลดแรงกระเพื่อมจากฝั่งแพทย์ชนบทโดยการตั้ง นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วย สธ.
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนขณะนี้ทางกลุ่มองค์กรตระกูล ส. ซึ่งนำโดยทีมโดย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ จะพยายามแยกตัวออกมาจากแพทย์ชนบทยุคปัจจุบัน ซึ่งกุมบังเหียนโดย นพ.วิชัย โชควิวัฒนโดยมีรุ่นเด็กอย่าง นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ นพ.วชิระ บถพิบูลย์ รวมไปถึงกลุ่มเอ็นจีโอ เป็นกำลังสำคัญ ด้วยเหตุผลในเรื่องของภาพลักษณ์
ที่เห็นได้ชัดคือการผลักดันให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนได้ตำแหน่ง ซี 9 และเรียกร้องค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่อ้างว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์ใช้ทุนอยู่ต่อในชนบท แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นจูงใจให้แพทย์ที่อยู่มานานได้เพิ่ม จนกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรุนแรงกับหมอในเมือง รวมไปถึงวิชาชีพอื่นอย่างพยาบาล ที่ช่วงตอนแพทย์ชนบทคัดค้านพีฟอร์พีก็ออกมาโจมตีด้วย เพราะแพทย์ชนบทได้มากแค่ฝ่ายเดียว ไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำกับวิชาชีพ อื่นในชนบทที่ทำงานหนักพอๆ กัน
ที่สำคัญช่วงแต่งตั้งที่ทีมสนับสนุนวิชาการของรัฐมนตรี สธ. ซึ่ง นพ.สุวิทย์ เป็นคนจัดการ โดยออกมาโจมตีรายชื่อทีมงานอย่าง นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และ นพ.ภูษิต ประคองสาย ถึงบทบาทที่ชวนน่าสงสัย ทำให้ นพ.สุวิทย์ ไม่พอใจกับเรื่องนี้มากพอสมควร
องค์กรตระกูล ส. จึงพยายามสร้างภาพว่าบริสุทธิ์ ไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหาและความขัดแย้ง นั่นก็คือไม่ได้เกี่ยวข้องกับแพทย์ชนบทอีกต่อไป โดย "หมอรัชตะ" ก็ออกมาย้ำหลายรอบว่ารายชื่อที่ปรึกษาสามารถไล่ดูได้ว่าไม่ได้มีแต่คนที่มาจากฝั่งแพทย์ชนบทอย่างเดียว แต่มาจากกลุ่มอื่นด้วย ทั้งโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ ภาคประชาสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อดูจากตัวละครที่ปรากฏออกมาในความ ขัดแย้งของกระทรวงหมอแล้ว ถือได้ว่าเป็นการคืนชีพของ "ขาใหญ่" ที่กลับมามีบทบาท เหมือนเมื่อครั้งสมัยอดีตที่แต่ละคนสามารถขึ้นมามีอำนาจใน สธ.
ส่วนสาเหตุที่ตัวละครยังคงวนเวียนอยู่กับคนเดิมๆ นั่นเป็นเพราะแพทย์ชนบทรุ่นใหม่ๆ โตไม่ทันในการขึ้นสู่อำนาจ อย่าง นพ.เกรียงศักดิ์ นพ.อารักษ์ ก็ล้วนยังไม่เคยเป็น ผอ.โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป การขึ้นสู่อำนาจใน สธ.จึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งจริงๆ แล้วใช่ว่าจะไม่อยากขึ้น แต่เพราะไม่สามารถขึ้นได้
ส่วนฝั่ง "หมอณรงค์" ซึ่งโดดเดี่ยวหัวเดียวกระเทียมลีบ เนื่องจากตอนเปลี่ยนขั้วอำนาจขึ้นมาเป็นปลัด สธ.ก็ขึ้นมาจากความที่ไม่ได้เป็นพวกใคร ทำให้มีจุดอ่อนคือ ขาด มือดีในการทำงาน จะทำอะไรก็ติดขัดไปเสียหมด จะมีก็เพียง นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.เท่านั้น ช่วงแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงจึงต้องพยายามอย่างยิ่งในการคงคนของตัวเองเอาไว้ และเป็นเหตุผลว่าทำไมการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้ถึงได้ล่าช้าอย่างมาก
สุดท้ายจบลงด้วยการที่ "หมอณรงค์" ต่อสายตรงถึงรุ่นพี่แพทย์ มช. ที่เป็นแพทย์อาวุโสให้ช่วยเหลือจึงยังคง นพ.วชิระ ไว้เป็นแขนขาในการทำงานต่อได้ ส่วนฝั่งแพทย์ชนบทก็ได้ส่ง นพ.สุรเชษฐ์ ขึ้นมานั่งกินตำแหน่ง
เรียกได้ว่าถ้าไม่มีแบ็กดีพอควร "หมอณรงค์" ก็อาจอยู่ยากหรือถึงขั้นอยู่ไม่ได้เช่นกัน
ส่วนศึกเสื้อกาวน์ครั้งนี้จะจบลงไปในทิศทางใด ก็ยังมองไม่เห็นปลายทาง รู้เพียงแต่ว่ากระทรวงสาธารณสุขนั้นร้าวลึกมานาน เปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำ ซึ่งบางครั้งหลายกลุ่มก้อนในกระทรวงสาธารณสุขก็แยกไม่ออกว่า ใครเป็นใคร รู้เพียงแต่ว่าหลายกลุ่มที่ยังคงจับมือกันอยู่ก็เพราะยังสมประโยชน์ต่อกัน แต่วันใดที่ขัดผลประโยชน์ขึ้นมา ขั้วอำนาจที่มีอยู่อาจสลายลงไป หรือเกิดขั้วอำนาจใหม่ขึ้นมาก็ได้
เพราะอย่าลืมว่าในสังคมออนไลน์ กลุ่มก้อนอื่นในกระทรวงหมอก็เริ่มมีความรู้สึกว่าตนเองมีพื้นที่ในการบอกเล่าเรื่องราว หรือแสดงออกเคลื่อนไหวต่อประเด็นต่างๆ ได้เช่นกัน ไม่ได้มีแต่กลุ่มแพทย์ชนบทที่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้เท่านั้น
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากสะกิดเตือนผู้มีอำนาจใน สธ.ก็คือ ประชาชนคนไทยยังคงรอการแก้ปัญหาต่างๆ ในระบบสุขภาพอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ การเข้าถึงบริการสุขภาพต่างๆ ที่ซัดกันนัวเนียอยู่ขณะนี้หลายคนฝากถามว่าใช่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจริงหรือไม่ หรือเพื่อผลประโยชน์ของใคร ??
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 พ.ย. 2557
- 18 views