สปสช.เตรียมประสานปลัดสธ.เพื่อชี้แจงเพิ่มเติม งงปลัดไม่เข้าใจ เพราะที่ผ่านมามีการหารือการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนฯ กับ นพ.วชิระ รองปลัด มาโดยตลอด จนเข้าใจและออกมาเป็นแนวทางบริหารดังกล่าว ย้ำหลักการบริหารงบบัตรทอง เพื่อสนับสนุนให้สถานพยาบาลมารถจัดบริหารให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพอย่างถ้วนหน้า

สืบเนื่องจากที่มีการรายงานข่าวว่า นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.ระบุว่าฟังการชี้แจงเรื่องการบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558 ที่สปสช.ชี้แจงไม่รู้เรื่องนั้น

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ชี้แจงว่า เข้าใจว่าเนื้อหามาจากการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสธ. เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วมประชุมอาจจะถึง 200 คน และได้มีการจัดวาระให้ตนไปร่วมประชุมชี้แจงเวลา 11.30 น. ซึ่งตนได้รับฟังความเห็นของปลัดสธ.ที่เป็นข่าวดังกล่าวในที่ประชุม และได้ขอโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจกับปลัดสธ.ในภายหลังเพิ่มเติม เพราะเป็นการไม่เหมาะสมที่จะโต้แย้งปลัดสธ.ในที่ประชุมดังกล่าว และเนื่องจากมีเวลาจำกัด เนื้อหาที่ชี้แจงจึงย่นย่อจากที่เคยนำเสนอคณะอนุกรรมการการเงินการคลังและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผู้แทนสธ.อยู่ทุกชุด ชุดที่เกี่ยวข้องกับการเงินมีผู้แทนจากสธ. 4 คน

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. (เสื้อสีดำ)

นพ.พีรพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ขณะนี้ตนได้ประสานงานไปยังทีมงานของ ปลัดสธ. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เพื่อชี้แจงเรื่องการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2558 เพิ่มเติมแล้ว ทั้งนี้ที่ผ่านมา สธ.และสปสช.ได้มีการหารือเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณมาโดยตลอดทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยสธ.มี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดสธ.เป็นตัวแทน บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี มีความเข้าใจในกระบวนการและเนื้อหาเพื่อการจัดการงบประมาณร่วมกัน และทางสธ.ก็รับทราบดีถึงหลักการบริหารจัดการงบประมาณ การที่บอกว่าทำไมต้องมีการหักเงินเป็นส่วนๆ ก็ไม่ได้หมายถึงว่ามีการโกงเงิน ขอเรียนชี้แจงว่า การบริหารจัดการงบกองทุนฯ มีเป้าหมายเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ และส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ถ้วนหน้า มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐาน

ซึ่งการบริหารจัดการงบกองทุนฯ ปี 2558 นั้น มีหลักการ 4 ข้อ คือ 1.การสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนและผู้ป่วยที่จะได้รับบริการสาธารณสุข 2.การเพิ่มประสิทธิผลและคุณภาพผลงานบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการสาธารณสุข 3.การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการร่วมดำเนินงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการบริการสาธารณสุข และ 4.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินกองทุน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลัดณรงค์กะซวกสปสช. ซัดไร้หลักการ-บริหารมั่ว