อย.ให้ความสำคัญกับฉลากอาหาร โดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557เรื่องการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะสม โดยใช้หลักการตามมาตรฐานของโคเด็กซ์ในประเด็นที่เหมาะสมกับมาตรการในการกำกับดูแลการแสดงฉลากและการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคภายในประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป
นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ฉลากอาหารมีความสำคัญต่อการสื่อสารข้อมูลผลิตภัณฑ์ไปยังผู้บริโภค จึงควรให้มีการปรับปรุงแก้ไขประกาศฯว่าด้วยเรื่องฉลากให้สอดคล้องกับหลักการสากล พร้อมทั้งปรับข้อความที่กำหนดให้แสดงบนฉลากให้มีความชัดเจน เข้าใจได้ง่ายขึ้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ โดยมีสาระสำคัญที่เพิ่มเติมจากประกาศเรื่องฉลากฉบับเดิมประกอบด้วย 1. การแสดงข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร หากมีการใช้หรืออาจปนเปื้อนในกระบวนการผลิตของส่วนประกอบ
ได้แก่ ธัญพืชที่มีส่วนประกอบของกลูเตน เช่น ข้าวสาลี บาร์เลย์ เป็นต้น สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็งและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ไข่และผลิตภัณฑ์จากไข่ ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง ถั่วเหลือง นมและผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงแลคโตส ถั่วที่มีเปลือกแข็งและผลิตภัณฑ์จากถั่วที่มีเปลือกแข็ง ซัลไฟต์ที่มีปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยต้องแสดงข้อความ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : มี..(ระบุชื่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ก่อภาวะภูมิไวเกิน)..” กรณีมีการใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารหรือ “ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร : อาจมี..(ระบุชื่อสารก่อภูมิแพ้หรือสารที่ก่อภาวะภูมิไวเกิน)...” กรณีมีการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต 2. การแสดงวัตถุเจือปนอาหาร ให้แสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ของวัตถุเจือปนอาหารร่วมกับชื่อเฉพาะ หรือแสดงชื่อกลุ่มหน้าที่ร่วมกับตัวเลขตาม International Numbering System : INS for Food Additives 3. ปรับเปลี่ยนการแสดงข้อความกำกับ วัน เดือน และปี ของอาหารที่มีอายุการเก็บไม่เกิน 90 วัน หรือเดือนและปีของอาหารที่มีอายุการเก็บเกิน 90 วัน เป็นข้อความ “ควรบริโภคก่อน”
4.การกำหนดขนาดตัวอักษรของฉลาก 7 รายการ ได้แก่ ชื่ออาหารเลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุหรือผู้นำเข้า หรือสำนักงานใหญ่ ปริมาณของอาหารส่วนประกอบที่สำคัญ ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร และการแสดงวัน เดือน และปีที่ควรบริโภคก่อน เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนและอ่านได้ง่าย 5. การแสดง ข้อความ รูปภาพ ตรา หรือเครื่องหมายการค้า ต้องไม่พ้องเสียง พ้องรูปกับคำหรือข้อความที่สื่อถึงคุณประโยชน์ คุณภาพ สรรพคุณ เป็นเท็จหรือเกินจริง และ 6. กำหนดเงื่อนไขการแสดงข้อความกล่าวอ้างเกี่ยวกับสารหรือส่วนประกอบอื่นในอาหาร เช่น ไม่ใช้บอแรกซ์ ทั้งนี้ประกาศฯฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่3 ธันวาคม 2557 เป็นต้นไป สำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าอาหารที่ได้จัดทำฉลากไว้ก่อนวันที่ประกาศฯฉบับนี้ใช้บังคับให้ทำการแก้ไขฉลากให้ถูกต้องตามประกาศฉบับนี้และฉลากเดิมที่เหลือให้ใช้ต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 2 ธันวาคม 2559
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดและปฏิบัติตามประกาศฯอย่างเคร่งครัด โดยสำนักงานฯจัดทำคำอธิบายในประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง คำชี้แจงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ อย่างไรก็ตาม
หากมีข้อสงสัยประการใด ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขโทรศัพท์ 02 590 7173 และ 02 590 7179 ในเวลาราชการ
- 288 views