สธ.เฝ้าระวังโรคโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ 2012 ในผู้ที่เดินทางกลับจากพิธีฮัจญ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นเวลา 30 วัน ระบุผู้ป่วยที่ จ.นราธิวาส 2 รายที่ปอดอักเสบ ทราบผลแล็บแล้ว ไม่ได้ติดเชื้อโคโรน่าไวรัส
15 ต.ค. นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ 2012 หรือ เมอร์ส -โควี (Middle East Respiratory Syndrome Corona Virus : MERS – CoV ) ว่า โรคนี้เป็นโรคทางเดินหายใจใหม่ที่มีอาการรุนแรง ไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยารักษาเฉพาะ มีแหล่งเกิดโรคที่ประเทศในตะวันออกกลาง มากที่สุดที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งไทยมีความเสี่ยงอาจพบผู้ติดเชื้อ เนื่องจากการเดินทาง โดยเฉพาะช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีชาวมุสลิมทั่วโลกเดินทางร่วมพิธีประมาณ 2 ล้านคน ในช่วงวันที่ 26 ก.ย. 2557 ถึง 8 ต.ค. 2557 ปีนี้มีชาวไทยมุสลิมเดินทางเข้าร่วม 10,199 คน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบดูแลสุขภาพตั้งแต่ก่อนเดินทางจนถึงหลังจากกลับประเทศ โดยขึ้นทะเบียนรายชื่อ ที่อยู่ทุกราย
ขณะนี้ผู้เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ได้ทยอยเดินทางกลับมาประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา เที่ยวสุดท้ายจะถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 รวมทั้งหมด 88 เที่ยวบิน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรค โดยจัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดไข้หลังลงเครื่อง ที่สนามบิน 4 แห่ง คือ ที่สุวรรณภูมิ หาดใหญ่ ภูเก็ต และนราธิวาส และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปจำนวน 50 จังหวัด เฝ้าระวังอาการป่วยในชุมชนคือ ที่บ้านของผู้เดินทาง ติดต่อกัน 30 วัน หากพบรายใดมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ให้รับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ทันที และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาติดเชื้อทุกราย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส เดินทางกลับมาครบแล้วจำนวน 576 คน ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2557 ผลการเฝ้าระวังพบผู้ที่มีอาการป่วยอยู่ในข่ายเฝ้าระวังโคโรน่าไวรัส คือ มีไข้ 38 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก ปอดอักเสบร่วมด้วย จำนวน 2 ราย แพทย์รับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ดูแลมาตรฐานเดียวกับผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง หรือโรคซาร์ส เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และส่งเสมหะตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จังหวัดสงขลา ผลการตรวจพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไม่ใช่โคโรน่าไวรัส และไม่ได้เป็นผู้ป่วยในข่ายสงสัยโรคอีโบลาแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ไม่มีประวัติเดินทางไปพื้นที่ระบาดโรคอีโบลา คือที่ 5 ประเทศแอฟริกาตะวันตก แต่เดินทางมาจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ไม่ใช่พื้นที่ระบาดโรคอีโบลา
สำหรับสถานการณ์ของโรคโคโรน่าไวรัส กระทรวงสาธารณสุข ประเทศซาอุดีอาระเบีย รายงานถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วย 760 ราย เสียชีวิต 324 ราย เฉพาะในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2557 พบผู้ป่วยยืนยันรวม 18 ราย และมีผู้ป่วยอย่างน้อย 2 ราย ไม่มีประวัติสัมผัสโรคที่ชัดเจน คือ ไม่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยรายอื่นๆ ไม่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ได้สัมผัสสัตว์ สถานการณ์การระบาดในแถบตะวันออกกลาง ใน พ.ศ. 2556 -2557 เกิดขึ้น 2 ช่วงของปี คือ เดือนเมษายน - มิถุนายน และ สิงหาคม - กันยายน ขณะนี้จึงอาจถือได้ว่าเข้าสู่ฤดูกาลระบาดของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักเป็นผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว โดยประเทศซาอุดีอาระเบียมีการคัดกรองผู้ป่วยที่สนามบินตอนขาเข้าประเทศ แต่ไม่มีการคัดกรองซ้ำขณะเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ มีเพียงคำแนะนำเท่านั้น
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่ออีกว่า โรคโคโรน่าไวรัส หลังติดเชื้อประมาณ 14 วัน จะปรากฏอาการ เริ่มต้นจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก บางรายอาจท้องเสียร่วมด้วย โดยเชื้อไวรัสจะลุกลามลงสู่ปอดอย่างรวดเร็ว คล้ายโรคซาร์ส จึงขอแนะนำประชาชนที่เดินทางกลับจากตะวันออกกลาง หรือกลับจากร่วมพิธีฮัจญ์ หากมีอาการดังที่กล่าวมา ขอให้คาดหน้ากากอนามัย เนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันได้จากการไอ จาม สัมผัสน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย และรีบพบแพทย์ที่อยู่ใกล้บ้านทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและเพิ่มความปลอดภัย ส่วนผู้ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ขอให้ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ.
- 5 views