สธ.ทำหนังสือถึงผู้ว่าแจ้งผลการยกระดับ รพช. เป็น รพท. ทั้ง 20 แห่ง ตั้งแต่ 7 ต.ค.แล้ว รองวชิระเผยมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.57 เป็นต้นมา แจงยื่นเรื่องขอตำแหน่งไปที่ ก.พ.แล้ว ชี้ประชาชนได้ประโยชน์ เพิ่มแพทย์เชี่ยวชาญในพื้นที่ และเป็นรพ.แม่ข่ายในการรับส่งต่อผู้ป่วยจากรพ.ขนาดเล็ก ด้านหมอประชุมพรต้านข้อเสนอยกเลิกระดับรพ.ของหมออารักษ์ ขัดหลักการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน
14 ต.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแจ้งผลการพิจารณาการขอยกฐานะโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) เป็นโรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ลงนามโดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สธ. มีมติเห็นชอบให้ยกฐานะ รพช.จำนวน 20 แห่ง เป็นรพท.
ประกอบด้วย 1.รพ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 2.รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 3.รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 4.รพ.บางละมุง จ.ชลบุรี 5.รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 6.รพ.แกลง จ.ระยอง 7. รพ.มาบตาพุด จ.ระยอง 8.รพ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 9.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 10. รพ.สมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จ.สกลนคร 11.รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 12.รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 13.รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา จ.นครราชสีมา 14.รพ.ปากช่องนานา จ.นครราชสีมา 15.รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 16.รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 17.รพ.สมเด็จพระยุพราชเดชอุดม จ.อุบลราชธานี 18. รพ.๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ จ.อุบลราชธานี 19. รพ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ 20. รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยขอให้จังหวัดจัดเตรียมข้อมูลเพื่อจัดคนลงตามโครงสร้างโรงพยาบาลเหล่านี้ และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป และให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า รพช. ทั้ง 20 แห่ง มีการพัฒนาไปมากจากเดิมมีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง 60 เตียง เพิ่มเป็น 90 เตียง120 เตียง บางแห่งถึง 200 เตียง ทำให้ความต้องการกำลังคนก็สูงขึ้น จึงต้องยกฐานะเพื่อให้สามารถขอกรอบอัตรากำลังได้ในอัตราที่มากกว่า รพช. ทำให้การบริการประชาชนมากขึ้นด้วย เนื่องจากเมื่อมีบุคลากรมากขึ้น โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ไม่ต้องเดินทางไกลออกนอกพื้นที่ ที่สำคัญยังสามารถเป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายในการรับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่อื่นๆ อีก ประกอบกับตำแหน่งก็จะสูงขึ้น โดยระดับผู้อำนวยการจะได้เป็นผู้อำนวยการระดับสูง ซึ่งเดิมในรพช. จะไม่มีตำแหน่งนี้จะเป็นเพียงนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยขณะนี้ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอตำแหน่งไปยังคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) แล้ว ส่วนเรื่องโครงสร้างต่างๆ จากนี้รพช.ทั้ง 20 แห่งจะถูกจัดเป็นรพท. ทันที
"ที่สำคัญเมื่อรพช.ขึ้นเป็นรพท. จะต้องอยู่ในเกณฑ์การทำงานของ สป.สธ. โดยเฉพาะผู้อำนวยการ รพท. จะต้องหมุนเวียนเป็นโรงพยาบาลทุก 4 ปี เพื่อลดปัญหาการครองพื้นที่ และช่วยในเรื่องการแก้ปัญหาให้หลากหลาย เพราะบางคนอยู่พื้นที่นานๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่สะสมได้ เพราะอาจชำนาญไม่เหมือนกัน แต่เมื่อเปลี่ยนรพ.ก็จะมีความชำนาญที่ตรงจุด หรือได้ประสบการณ์ที่เปลี่ยนไป แต่หากจะอยู่ในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาต่อเนื่องก็สามารถทำได้ แต่จะต่อได้อีกประมาณ 1-2 ปี" นพ่.ธงชัย กล่าว
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงข้อเสนอของนพ.อารักษ์ วงษ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และแกนนำชมรมแพทย์ชนบทที่เสนอให้มีการยกเลิกระดับรพ.สังกัดสธ.ว่า การยกเลิกการแบ่งระดับรพช. รพท. หรือรพศ. ถือว่าขัดต่อหลักการเดินหน้าเขตบริการสุขภาพ เนื่องจากนโยบายเขตบริการสุขภาพก็เพื่อให้รพ.ทุกระดับทำงานร่วมกัน มีการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน และมีการรับส่งต่ออย่างเหมาะสม ช่วยลดการแออัดในรพ. ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้น จึงไม่เข้าใจว่าจะมีการยกเลิกเพื่ออะไร
- 27 views