สธ.ประสานแล็บตรวจเชื้ออีโบลาอีก 3 แห่ง ที่คณะแพทย์ มช. ม.สงขลาฯ และ มข.รู้ผลตรวจภายใน 5 ชั่วโมง เฝ้าระวังใน 2 ชุมชนต่อที่จันทบุรีและบางรัก กทม. เข้มข้น
6 ต.ค.58 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า องค์การอนามัยโลกรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 มีทั้งหมด 7,470 ราย เสียชีวิต 3,431 ราย โดยพบผู้ป่วยใหม่ในรอบ 21 วัน เพิ่มขึ้นใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไลบีเรีย กินี และเซียร์ราลีโอน รวม 2,866 ราย เสียชีวิต 1,031 ราย มากที่สุดคือ ไลบีเรีย มีผู้ป่วย 1,427 ราย พื้นที่ระบาดประมาณร้อยละ 71 ของพื้นที่ใน 3 ประเทศดังกล่าว ส่วนสถานการณ์ในประเทศไนจีเรียและเซเนกัล ขณะนี้สามารถควบคุมโรคได้ ไม่มีผู้ป่วยในรอบ 21 วัน ส่วนที่ประเทศดีอาคองโก กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงของไทย มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อจากพื้นที่ระบาดเดินทางเข้ามาเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา จึงต้องคง 5 มาตรการความพร้อมในการรับมืออยู่ตลอดเวลา ได้แก่ 1.การประเมินความเสี่ยงและการเฝ้าระวังสัญญาณอาการป่วยของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 2.ระบบสอบสวนป้องกันโรค 3.ระบบการดูแลรักษาของโรงพยาบาล ซึ่งได้ให้โรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาค 15 แห่ง ที่มีด่านเข้าออกประเทศและใน กทม.อีก 5 แห่ง จัดความพร้อมทั้งบุคลากร แพทย์ พยาบาล ห้องแยกโรค ห้องตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ ระบบป้องกันการติดเชื้อ อย่างสมบูรณ์แบบ 4.ระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา กรณีพบผู้สงสัยซึ่งขณะนี้สามารถตรวจได้ 2 แห่ง คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทราบผลตรวจภายใน 5 ชั่งโมง
นอกจากนี้ ได้เตรียมประสานกับคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา และมหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ซึ่งมีความพร้อมของห้องตรวจชันสูตรอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถตรวจยืนยันเชื้อได้รวดเร็วขึ้น และย่นระยะเวลาเดินทางส่งไปตรวจที่ กทม.ด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ โดยมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ประสานงาน และ 5.การสื่อสารความเสี่ยง ได้จัดทำคู่มือและแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ พร้อมสร้างความเข้าใจประชาชน เพื่อให้ความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรค ไม่เกิดความตื่นตระหนก
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจากประเทศ ที่มีการระบาดตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2557 มี 1,961 คน ส่วนใหญ่มาจากไนจีเรียและกินี ยังไม่พบรายใดมีไข้ ส่วนด้านงบประมาณในการเตรียมพร้อมรับมือโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขณะนี้ได้รับอนุมัติจากงบกลางในการป้องกันโรควงเงิน 99.5 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง การจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชุดปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ในห้องตรวจปฏิบัติการ พัฒนาห้องตรวจโรคที่ด่านสุวรรณภูมิ และการจัดซ้อมแผนบูรณาการระหว่างกระทรวงกับหน่วยงานอื่น
ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังดำเนินการช่วยเหลือประเทศที่มีการระบาดที่แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีปัญหาเตียงไม่พอกับผู้ป่วยและขาดบุคลากรจำนวนมาก ขณะนี้ยูเอ็น (UN) มีความต้องการบุคลากรจากนานาชาติประมาณ 656 คน เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาใน 5 ประเด็น คือ 1.หยุดการระบาด 2.รักษาพยาบาล 3.ดูแลระบบอุปโภคบริโภคสาธารณสุข 4.การรักษาเสถียรภาพ ความมั่นคงประเทศ และ 5.การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ประเทศอื่น โดยกระทรวงสาธารณสุขไทยจะประสานหน่วยงานที่มีหน่วยงานในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือในฐานะประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกต่อไป.
- 2 views