กระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการระบาดกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อผลิตนักระบาดวิทยามืออาชีพ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจจับสัญญาณการระบาดของโรคติดต่อทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 21 สร้างความเข้มแข็งระบบการป้องกันควบคุมโรคของไทยเป็นที่เชื่อมั่น ยอมรับในระดับนานาชาติ
วันนี้ (3 ตุลาคม 2557) ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อร่วมมือในการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาการระบาด ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม เพื่อสร้างนักระบาดวิทยามืออาชีพ ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจจับสัญญาณการระบาดของโรคติดต่อ ทั้งที่เป็นโรคเก่าที่มีในประเทศ และโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 21
สาระของความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1.การจัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิทยาการระบาด 2.การบริหารจัดการรายวิชาในการฝึกปฏิบัติงานในภาคสนาม และ3.ให้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมเป็นอาจารย์พิเศษและเป็นวิทยากรสอนหรือบรรยายในหลักสูตร เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุข เป็นการสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นระบบการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยบทบาททำหน้าที่สำคัญของนักระบาดวิทยาคือการเฝ้าระวังสัญญาณการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ เพื่อวางแผนการป้องกัน และการควบคุมโรคหากมีผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเกิดขึ้น เพื่อจำกัดไม่ให้โรคแพร่ระบาดในวงกว้าง ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีทีมนักระบาดวิทยา ทำหน้าที่เป็นทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ประจำทุกจังหวัดและทุกอำเภอ รวมทั่วประเทศ 1,200 กว่าทีม มีความพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบผลสำเร็จหลายเรื่อง เช่น การป้องกันโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งที่กำลังดำเนินการในขณะนี้คือ การป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งมีแหล่งระบาดที่ 4 ประเทศอาฟริกาตะวันตก คือกินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และไนจีเรีย ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยาได้ร่วมกับศิริราชพยาบาลผลิตนักระบาดวิทยา หลักสูตร 2 ปี อย่างไม่เป็นทางการ เป็นเวลา 35 ปี มีผู้เข้าศึกษาปีการศึกษาละประมาณ 10-15 คน ในปีงบประมาณ 2558 นี้จะเป็นการร่วมมืออย่างเป็นทางการ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลรับผิดชอบภาคทฤษฎี ส่วนสำนักระบาดวิทยารับผิดชอบในการฝึกปฏิบัติในภาคสนาม โดยปัจจุบันนักศึกษาจะได้เข้าฝึกที่สำนักงานป้องกันควบคุมป้องกันโรค ที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่จังหวัดลำปาง และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การฝึกภาคสนามจะเน้นการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา การจัดลำดับความสำคัญ การวางแผนกลยุทธ์ และการดำเนินการแก้ไขป้องกันปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงขั้นตอนของการสอบสวนโรคที่รวดเร็วและแม่นยำ
- 84 views