สธ.ยกระดับ รพช. เป็น รพท. 1 ต.ค.นี้ ยกเลิกเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย-ทุรกันดาร ปรับจ่ายตาม P4P หมอวชิระ ยัน ค่าตอบแทนหลังปรับสถานะไม่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน ระบุเบื้องต้น ผอ.รพช.ทั้ง 20 แห่ง นั่งรักษาการ ผอ.รพท. ก่อน ยังไม่โยกย้าย ย้ำ ประชาชนได้ประโยชน์ ไม่ต้องไปรักษา รพ.นอกพื้นที่ มีแพทย์เชี่ยวชาญประจำรพ. ขณะที่บุคลากรก็มีความก้าวหน้ามากขึ้นตามระดับสายงาน ด้าน “หมอภูษิต” เผยเหตุที่ต้องยกระดับเพราะสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เติบโตขึ้น มีการพัฒนารพ.จนสามารถให้บริการประชาชนได้มากขึ้น จึงต้องปรับ และเพิ่มความก้าวหน้าให้บุคลากร รับอาจมีปัญหากับตำแหน่งผอ.รพ.ที่อำนาจโยกย้ายอยู่ที่ปลัด
30 ก.ย.57 ข่าวการยกระดับโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) 20 แห่ง ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม นี้ นับเป็นข่าวดีสำหรับประชาชนในฐานะผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะเป็นการขยายศักยภาพโรงพยาบาลในพื้นที่ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษายิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ป่วยด้วยโรคซับซ้อน ไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลทั่วไปที่อยู่ข้ามจังหวัดเพื่อรับการรักษา
แต่ขณะเดียวกันยังมีข้อกังวลจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่ ทั้งในเรื่องค่าตอบแทน และตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้หลักเกณฑ์ของโรงพยาบาลทั่วไป ที่อาจเป็นเหตุให้ทั้งค่าตอบแทนและตำแหน่งถูกปรับเปลี่ยนไป
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การยกระดับ รพช.ทั้ง 20 แห่ง เป็น รพท. นั้น หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม นี้ จะมีการเปลี่ยนแปลง คือ 1.สถานะ รพช.ทั้ง 20 แห่งจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิที่ไม่ยุ่งยากมากนัก จะขยับไปรักษาระดับทุติยภูมิถึงตติยภูมิ ที่มีความซับซ้อนในการรักษามากขึ้น โดยจะต้องมีแพทย์เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาประจำอยู่ รวมถึงจำนวนสหวิชาชีพซึ่งในอนาคตจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น
2.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ซึ่งเดิมใน รพช. ตำแหน่ง ผอ.จะสูงสุดเพียงแค่ระดับ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เช่นเดียวกับหัวหน้ากลุ่มพยาบาลจะสูงสุดเพียงแต่ระดับผู้เชี่ยวชาญเช่นกัน แต่หลังปรับเป็น รพท. ตำแหน่งตามสายงานจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น และ 3.ทรัพยากรที่จะเพิ่มเติม ทั้งในด้านงบประมาณและบุคลากรที่ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพในรองรับการรักษาในระดับ รพท.ได้
นพ.วชิระ กล่าวว่า ในการยกระดับ รพช.ทั้ง 20 แห่งนี้ ได้ผ่านการพิจารณา อกพ.สธ.เรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาในการเตรียมการต่อเนื่องมา 5 ปี โดยเกณฑ์การพิจารณาจะดูจากฐานประชากรในพื้นที่ จำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาล และที่สำคัญคือศักยภาพของตัวโรงพยาบาลเองที่ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 5 สาขาหลักประจำอยู่ และอาจมีสาขาย่อยอื่นๆ ประกอบ รวมถึงความสามารถในการผ่าตัด
“การคัดเลือก รพช.เพื่อยกระดับเป็น รพท.นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากความพร้อมของ รพ.และนำเสนอเข้ามาเอง เนื่องจากการเป็น รพท.จะทำให้มีการเพิ่มศักยภาพในการรักษาพยาบาลมากขึ้น มีการขยายกรอบอัตรากำลัง และงบประมาณจาก สธ.ลงไป เพิ่มเติมห้องผ่าตัดและเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับ รพ. และประชาชนเอง แต่มีบางแห่งที่เป็นการยกระดับโดย สธ.เอง อย่างที่ รพ.มาบตาพุด เนื่องจากเป็นที่พื้นที่เขตอุตสาหกรรรม มีประชากรจำนวนมาก จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านประจำอยู่ หรือที่ รพ. เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา ที่ต้องยกระดับเพื่อแบ่งเบาภาระการดูแลผู้ป่วยจาก รพ.มหาราชนครราชสีมาที่แน่นขนัด จนเป็นปัญหาการเข้าถึงการรักษาของประชาชน” รองปลัด สธ. กล่าว
ส่วนที่มีแพทย์และบุคลากร รพ. บางส่วนเป็นห่วงเรื่องค่าตอบแทนที่อาจลดลง หลังปรับเป็น รพท. เพราะจะทำให้ไม่ได้รับเบี้ยทุรกันดาร เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายนั้น นพ.วชิระ กล่าวว่า เป็นข้อกังวลที่ สธ.เองรับทราบ และการันตีว่าค่าตอบแทนภายหลังยกระดับเป็น รพท.จะไม่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน เพียงแต่อาจต้องใช้เวลา รวมไปถึงการจ่ายอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามวิธี ตามสถานะของ รพ. อีกทั้งบุคลากรใน รพ.เหล่านี้มีงานที่มากอยู่แล้ว เมื่อคำนวณตามภาระงานเชื่อว่าค่าตอบแทนที่จะได้รับนั้นไม่ต่ำกว่าเดิมแน่นอน และบางวิชาชีพอาจได้มากกว่าเดิม
“ช่วงเปลี่ยนผ่าน สธ.คงไม่ได้ตัดโดยทันที มีกระบวนการที่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไป โดย สธ.ไม่มีแนวคิดที่จะไปลดค่าตอบแทนใคร และที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อลงทำรายละเอียดในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไป” รองปลัด สธ. กล่าว และว่า สำหรับตำแหน่ง ผอ.รพท.นั้น นพ.วชิระ กล่าวว่า ตำแหน่ง ผอ.ยังคงเป็น ผอ.รพช.คนเดิม เพียงแต่อยู่ในตำแหน่งรักษาการไปก่อน แต่พอเป็น รพท.เต็มรูปแบบ ต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกับ รพท. โดยต้องมีการโยกย้าย แต่เรื่องนี้คงต้องใช้เวลา เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับขยายเพิ่มตำแหน่ง
นพ.วชิระ กล่าวว่า การยกระดับ รพช. เป็น รพท.ของ สธ.ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตมีการดำเนินการมาต่อเนื่อง เพียงแต่ได้มีการเว้นวรรคไปช่วงหนึ่ง โดยล่าสุดได้มีการยกระดับ รพ.บึงกาฬ เป็นโรงพยาบาลจังหวัด เนื่องจากได้มีการแยก อ.บึงกาฬ ออกจาก จ.หนองคาย เพื่อตั้งเป็นจังหวัดใหม่ และการยกระดับ รพ.กระทุ่มแบน เนื่องจากจำนวนผู้รับบริการที่มีจำนวนมาก แต่ทั้ง 2 แห่ง การขยับตำแหน่งในส่วนของ ผอ.ยังไม่เรียบร้อย ทั้งนี้การยกระดับ รพช. 20 แห่งนั้น เป็นจำนวนไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับ รพช.ที่มีจำนวนกว่า 800 แห่ง อีกทั้งทิศทางการพัฒนาของทาง สธ.อยู่แล้ว ในการเพิ่มศักยภาพการรักษาพยาบาลให้กับหน่วยบริการในสังกัด เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาเพิ่มมากขึ้น
นพ.ภูษิต ประคองสาย
ด้าน นพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า กรณีการยกระดับ รพช. เป็น รพท.นั้น เนื่องจากพบว่า มี รพช.ในบางอำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีสภาพเศรษฐกิจดี มีจำนวนประชากรมาก ได้เกิดการพัฒนา รพ.ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนเตียงเพิ่มมากขึ้น มีแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงศักยภาพในการรักษาจนสามารถรองรับการดูแลประชากรในพื้นที่ได้แม้แต่โรคซับซ้อน ด้วยเหตุนี้ทาง สธ.จึงสนับสนุนด้วยการยกระดับให้เป็น รพท. ที่ไม่เพียงแต่จะจัดทรัพยากรสนับสนุนลงไปเพิ่มขึ้น แต่ยังขยายอัตราตำแหน่งและความก้าวหน้าให้กับบุคลากรใน รพ.เพิ่มมากขึ้น อาทิ ตำแหน่งแพทย์เฉพาะทาง นับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ในแง่การพัฒนาศักยภาพ
นพ.ภูษิต กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมของการยกระดับ รพช.เป็น รพท. จะเป็นผลบวกในภาพรวม ทั้งในแง่การพัฒนาศักยภาพ รพ. รวมถึงการรักษาประชาชน แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนของ รพช. และ รพท.ที่แตกต่างกัน โดย รพช.เป็นรูปแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เมื่อต้องจ่ายตามหลักเกณฑ์ รพท. อาจทำให้ได้ค่าตอบแทนที่ไม่เท่ากัน จึงอาจเป็นปัญหา เช่นเดียวกับตำแหน่ง ผอ. ซึ่งในกรณีที่เป็น ผอ.รพช. จะสามารถดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.รพช.ไปอย่างต่อเนื่องได้ แต่หากปรับเป็น ผอ.รพท.แล้ว จะต้องมีการหมุนเวียนตำแหน่ง มีการโยกย้ายที่ขึ้นอยู่กับปลัด สธ. ด้วยเหตุนี้อาจทำให้ รพช.บางแห่งไม่อยากที่จะยกระดับเป็น รพท. ได้
“เชื่อว่าทาง สธ.คงต้องหาทางออกในเรื่องปัญหาค่าตอบแทนและตำแหน่งข้างต้นนี้ เพื่อกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้การยกระดับ รพช.เป็น รพท.นับเป็นประโยชน์ทั้งกับ รพ.และประชาชนในพื้นที่ เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาลที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา” นพ.ภูษิต กล่าว
ทั้งนี้รายชื่อ รพช.ที่ยกระดับเป็น รพท. 20 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ 2.รพ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 3.รพ.บางละมุง จ.ชลบุรี 4.รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 5.รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 6.รพ.แกลง จ.ระยอง 7.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น 8.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) สว่างแดนดิน จ.สกลนคร 9.รพ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 10.รพ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 11.รพ.ปากช่องนานา จ.นครราชสีมา 12.รพ.เทพรัตน์ นครราชสีมา จ.นครราชสีมา 13.รพ.ปราสาท จ.สุรินทร์ 14.รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี 15.รพ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี 16.รพ.50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ จ.อุบลราชธานี 17.รพ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช 18.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช 19.รพ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ 20.รพ.มาบตาพุด จ.ระยอง
- 334 views