ปลัดสธ.เตรียมเสนอแผนพัฒนาระบบสุขภาพต่อรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 13 กันยายน 2557 นี้ รวม 16 เรื่องและมี 4 เรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ เร่งพัฒนาธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้งโยกย้ายต้องเป็นไปอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ การเร่งสร้างขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่พร้อมลดความเลื่อมล้ำ และเร่งพัฒนาระบบสุขภาพใช้ทรัพยากรที่มีอยู่และจัดบริการร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด  และกระจายงบประมาณสู่เขตสุขภาพ

10 กันยายน 2557 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557ว่า ในเบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขได้รวบรวมเรื่องที่จะต้องพัฒนาเพื่อปรับปรุงระบบสุขภาพเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่จะเข้ารับตำแหน่งและมอบนโยบายในวันที่ 13 กันยายน 2557 รวม 16 เรื่อง แต่มีเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินงาน 4 เรื่องคือ 1.ระบบธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ได้ทบทวนระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดจนเกณฑ์จริยธรรมในการจะซื้อจะจ้าง รวมทั้งการจัดระบบเงินสนับสนุนต่างๆ และการแต่งตั้งโยกย้าย รวมทั้งงบประมาณ ต้องตรวจสอบได้ เพื่อความโปร่งใสของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีเครือข่ายที่จะเข้ามาช่วยในการตรวจสอบ 2 ระดับคือ เครือข่าย อสม. และเครือข่ายของพยาบาลโรงพยาบาลทุกแห่ง

2.การสร้างขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ  ขณะนี้อยู่ระหว่างบรรจุข้าราชการ 7,547 ตำแหน่งในรอบที่ 2 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของคสช.เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 สำหรับการบรรจุรอบที่ 3 กระทรวงสาธารณสุขจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ทบทวนการจัดกรอบอัตรากำลัง  ให้สอดคล้องกับปริมาณงานและจำนวนประชากร  และการบริหารกำลังคนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เพิ่มวิธีการจ้างงาน ในรูปแบบพนักงานของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในการประเมินการเข้าสู่ตำแหน่งจะต้องมีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ ได้เร่งดำเนินการปรับค่าตอบแทนเพื่อลดความเลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพที่มีอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขกว่า 24 วิชาชีพ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ภายใต้ภาระงานที่เพิ่มสูงขึ้น

3.การจัดระบบบริการสุขภาพ หรือ Service plan ซึ่งการพัฒนาใช้กรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก คือ  6 building block ซึ่งมีองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ ระบบบริการ กำลังคน ข้อมูล การเงิน ยา เทคโนโลยี และธรรมาภิบาล และสอดคล้องกับทิศทางมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ต้องการเห็นการจัดบริการที่สอดคล้องเหมาะสมกับขนาดพื้นที่และประชากร มีการจัดระบบส่งต่อที่ไร้รอยต่อ โดยใช้ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่และจัดบริการร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการจัดบริการเขตสุขภาพที่การเงินเพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องใช้ทั้ง 6 องค์ประกอบและการบริหารจัดการ ขณะนี้เขตสุขภาพทุกเขตกำลังเดินหน้า เพื่อให้ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น ภายใต้การบริการservice plan ทั้ง 10 ด้าน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้วางแผนและนโยบายสุขภาพ และกระจายอำนาจสู่เขต ทั้งเงินและอำนาจการบริหาร เพื่อให้งบประมาณทั้งหมดเป็นไปตามความต้องการและสอดคล้องกับปัญหาในเขต และมีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยร่วมด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างออกแบบระบบ จะมีองค์ประกอบของผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และประชาชนมีส่วนร่วมด้วย  มีหลายเขตที่ก้าวหน้าเช่น ที่ภาคใต้  มีระบบการบริการผู้ป่วยโรคมะเร็งร่วมกันระหว่างรพ.หาดใหญ่กับรพ.มหาวิทยาลับสงขลานครินทร์ และขยายบริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รพ.นาหม่อม  และมีแพทย์จากรพ.หาดใหญ่ลงไปตรวจ เป็นต้น   

และ4.การพัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอควบคู่ไปกับการพัฒนา รพ.สต โดยจะจัดทำโครงการทศวรรษพัฒนารพ.สต. ซึ่งจะเชื่อมโยงกับหมอประจำครอบครัวและการจัดบริการปฐมภูมิด้วย  เช่น การจัดบริการร่วมในเขตภาคใต้ในเรื่องการให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็ง หากเป็นการให้ยารักษาจะเป็นในส่วนของโรงพยาบาลหาดใหญ่ และหากเป็นการผ่าตัดชั้นสูงให้โรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับผิดชอบ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของประเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุด ขณะนี้ รพ.นาหม่อมกำลังสร้างอาคารเฉพาะโรคมะเร็งเพื่อรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ แพทย์ที่ประจำรพ.หาดใหญ่ได้ไปตรวจและให้ความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งขณะนี้รพ.นาหม่อม สามารถดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งได้แล้ว และจะขยายการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งลงถึงชุมชนและจะขยายไปทั่วจังหวัด

สำหรับเรื่องงบประมาณทั้งหมด 2 แสนล้าน เป็นส่วนของกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 1 แสนล้าน เป็นของงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ 1 แสนล้านบาท เป็นเงินเดือนประมาณ 7 หมื่นล้าน คิดเป็นร้อยละ 40 ไม่รวมค่าจ้างชั่วคราวและค่าตอบแทน  ได้วางแผนจะจัดส่งเงินให้เขตบริหารจัดการโดยงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้คณะกรรมการพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ ซึ่งมีท้องถิ่นและประชาชนเป็นกรรมการด้วย  ส่วนงบดูแลผู้ป่วยนอกให้คณะกรรมการบริการสุขภาพระดับจังหวัดดูแล ส่วนงบผู้ป่วยในและงบชดเชยตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เขตสุขภาพบริหารจัดการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการวางแผนมาแล้ว 1 ปี