กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการประจำปี 2557 ภายใต้หัวข้อ“สร้างสรรค์วิชาการ เพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข” เน้นการปฏิรูประบบสุขภาพปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ แทนการมุ่งเน้นการรักษาพยาบาล พัฒนาคุณภาพมาตรฐานของการบริการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ในปีนี้มีการประกวดผลงานวิชาการ 1,009 เรื่อง และมอบรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ดีเด่น รางวัลชมเชย ประจำปี 2556 จำนวน 10 ผลงาน
10 กันยายน 2557 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2557 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 22 ในหัวข้อ“สร้างสรรค์วิชาการ เพื่อการปฏิรูประบบสาธารณสุข” ปีนี้เน้นเรื่องระบบการปฏิรูประบบสุขภาพ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในสังกัดทุกระดับทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ร่วมประชุม 6,000 คน เพื่อให้ให้บุคลากรสาธารณสุขนำองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่สู่บุคลากร ร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ รวมทั้งสร้างเครือข่ายทางวิชาการ นำองค์ความรู้ไปใช้ในปรับเปลี่ยนแนวคิด และพฤติกรรมประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพดี ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเอง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการการรักษาพยาบาล
สำหรับการประชุมวิชาการในปีนี้ มีบุคลากรส่งผลงานวิชาการเข้าร่วมประกวดทั้งหมด 1,009 เรื่อง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิจัยคลินิก กลุ่มการสาธารณสุข และกลุ่มอาร์ทูอาร์ หรือการวิจัยจากงานที่ทำเป็นประจำ โดยมีผลงานวิจัยที่นำเสนอแบบวาจา 524 เรื่อง นำเสนอแบบโปสเตอร์ 306 เรื่อง และผลงานวิจัยประเภทนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 179 ชิ้น ซึ่งผลงานทั้งหมดได้ผ่านการคัดกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาอาชีพของกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจะคัดเลือกผลงานวิชาการที่ดีที่สุด ให้ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปีต่อไป นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานวิชาการจากนักวิจัยระดับมืออาชีพ และผลงานจากกลุ่มพัฒนานักวิจัยด้วย เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ ให้บุคลากรนำไปประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่
ด้านนายแพทย์ทรงยศ ชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีบุคลากรสาธารณสุขในสังกัดที่ได้รับรางวัลชัยนาทนเรนทร 5 ราย ได้แก่ 1.นางเกษร วงศ์มณี สาธารณสุขอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ได้รางวัลประเภทบริหาร2.นายธีระวัฒน์ แดงกะเปา ผอ.รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า ต.สวนป่า อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ได้รางวัลประเภทบริการ 3.นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผอ.องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รางวัลประเภทวิชาการ 4.นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีต ผอ.รพ.น่าน ได้รางวัลประเภทผู้นำชุมชน และ5.นายพงษ์ศักดิ์ ฉิ่งสุวรรณโรจน์ จ.ชุมพร ได้รางวัลประเภทประชาชน พร้อมทั้งมอบโล่รางวัลชนะเลิศโครงการดีเด่นระดับประเทศด้านสุขภาพ และรักษาพยาบาลวิถีพุทธ 2 รางวัล ได้แก่ นางอุษา รพ.สต.วัดโบสถ์ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และนพ.ศรีไพร ทองนิมิต รพ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ
มอบรางวัลผู้มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2556 จำนวน 10 รางวัล แบ่งเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วยประเภทผลงานยอดเยี่ยม 2 รางวัล ผู้ได้รับรางวัลได้แก่ เภสัชกรหญิงชุติมาภรณ์ ไชยสงค์ รพ.มหาสารคาม จากผลงานเรื่อง ผลลัพธ์และต้นทุนของการใช้ยาคอลิสติน และไตกีไซคลีน (Colistinและ Tigecycline) ในการรักษาโรคติดเชื้อแกรมลบ พบว่า ให้ผลการรักษาไม่แตกต่างกัน แต่ยาคอลิสตินมีต้นทุนที่ต่ำกว่า และนางสุรางค์ศรี ศีตมโนชน์ รพ.ถลาง จ.ภูเก็ต จากผลงานศึกษาเรื่องการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรอย่างมีส่วนร่วม โดยอาศัยทรัพยากรและศักยภาพในพื้นที่ วงรอบที่ 3 จ.ภูเก็ต พบว่าการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย การใช้ระบบสารสนเทศและการติดตามอย่างต่อเนื่อง สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรได้
ประเภทผลงานดีเด่นมี 4 รางวัล ได้แก่ 1.แพทย์หญิงอุษณีย์ สังคมกำแหง รพ.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น จากผลการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างการให้ยากระตุ้นการรัดตัวของมดลูกหรือยาออกซิโตซิน เข้าทางหลอดเลือดดำกับฉีดเข้าทางกล้ามเนื้อ ในการดูแลระยะที่ 3 ของการคลอดบุตร ผลพบว่าให้ผลในการป้องกันภาวะการตกเลือดหลังคลอดไม่แตกต่างกัน 2.แพทย์หญิงรัชฎา สหะวรกุลศักดิ์ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จ.ปราจีนบุรี ผลการศึกษาประสิทธิผลของการบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง โดยใช้แคบไซซิน แอบไฮ พลาส (Capsaicin Abhai Plast) เปรียบเทียบกับเมทธิลซาลิซาเลท พลาสเตอร์ (Methyl salicylate Plaster) พบว่าให้ผลดีในการบรรเทาอาการปวดไม่แตกต่างกันและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น
3.แพทย์หญิงจุฑามาศ สมชาติ รพ.ลำพูน จ.ลำพูน จากผลการศึกษาเปรียบเทียบเทคนิคการฉีดยาชาในผู้สูงอายุที่มาผ่าตัดข้อสะโพกด้วยวิธีการฉีดเข้าทางช่องไขสันหลัง (Spinal block) กับการฉีดยาชาเข้าไปฉาบกลุ่มเส้นประสาทที่บริเวณเอว (Combined lumbar plexus – sciatic nerve block) พบว่าการฉีดยาชาไปฉาบกลุ่มเส้นประสาทที่บริเวณเอว สามารถลดความเสี่ยงต่อการต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดระหว่างผ่าตัดเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วย 4.นางศิราณี จามสิงห์คำ รพ.มหาราชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา จากผลการศึกษาการใช้กระบวนการจัดการความรู้ในการพัฒนาระบบการดูแลทารกแรกเกิดที่มีปัญหาลิ้นติด (Tongue-tie) และได้รับการผ่าตัดเลาะพังผืดใต้ลิ้นอย่างรวดเร็ว เป็นการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยให้ทารกดูดนมแม่ได้ดีขึ้น
ประเภทชมเชย 4 รางวัล ได้แก่ 1.นางนัตฏิยา ศรีสุราช รพ.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ผลการศึกษาการพัฒนาการตรวจเพาะเชื้อวัณโรคทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ รพ.ขอนแก่น โดยใช้อาหารเลี้ยงเชื้อเหลวมาใช้ในการตรวจเพาะเชื้อวัณโรค จะช่วยให้อัตราการตรวจพบวัณโรคดีขึ้น ลดระยะเวลารอคอยผลเพาะเชื้อจากเดิม 3-5 เป็น 1-1.5 เดือน 2.นางสาวพรหมณี ดับโศก รพ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ผลการศึกษาการพัฒนาระบบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ ในคลินิกองค์รวม โดยสหสาขาวิชาชีพและกลุ่มกำลังใจ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ พบว่าสามารถลดปัญหาการดื้อยาต้านไวรัสเอชไอวีและผู้ป่วยพึงพอใจเพิ่มขึ้น 3.นายชาติชาย นินนานนท์ รพ.มหาราช จ.นครราชสีมา พัฒนานวัตกรรมการประดิษฐ์กระบอกฉีดยา(Syringe) ใช้เป็นเครื่องมือในการทำผ่าตัดเปิดแผลที่ผิวหนัง และใช้เป็นเครื่องส่องตรวจกระเพาะอาหารในผู้ป่วยเด็ก และใช้ต่อกับกระจกส่งดูความผิดปกติในโพรงช่องปาก ลำคอ และ4.นายจักรพงศ์ ปิติโชคโภคินท์ รพ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี ได้พัฒนาเก้าอี้ทำแผล (Khemmarat Wound Chair) เพื่อใช้สำหรับรองขาและเท้าของผู้ป่วยขณะทำแผล ช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบายและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้น
- 57 views