คณะทำงานจัดทำแนวทางการชันสูตรและวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา แนะนำให้เจาะเลือดผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายแรก เพื่อตรวจอีโบลาซ้ำ และตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ของการป่วยเพิ่มเติมด้วยในวันนี้ จะทราบผล 4 กันยายน 2557 หากให้ผลลบ ก็จะอนุญาตให้กลับบ้าน โดยอาการของผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้ วันนี้ไม่มีไข้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งเตรียมความพร้อมในโรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่งทั่วประเทศ ให้มีห้องปฏิบัติการชันสูตรโรคและห้องแยกผู้ป่วย เพื่อการตรวจวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย รองรับโรคอีโบลาและโรคติดต่ออื่นๆ ในอนาคต
วันนี้ (3 กันยายน 2557) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะทำงานจัดทำแนวทางการชันสูตรและวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา แถลงข่าวความคืบหน้าของโรคอีโบลา ภายหลังกระทรวงสาธารณสุข พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลารายแรก เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2557 และรับตัวเข้าดูแลในโรงพยาบาลในสังกัด
นายแพทย์ประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากที่ระบบเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขได้พบผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การดูแลตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ และได้ทำการตรวจเลือดไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์ฯ ครั้งที่ 1 ไม่พบหลักฐานการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีไข้มา 2 วัน กล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรครายที่ 1 นี้ ยังไม่มีหลักฐานการติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยที่ประชุมได้แนะนำให้เจาะเลือดตรวจซ้ำอีกครั้ง ตามแนวทางที่กำหนด รวมทั้งให้ตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ของการป่วยด้วย คาดจะทราบผลการตรวจในวันที่ 4 กันยายน 2557 หากผลการตรวจครั้งที่ 2 ให้ผลลบอีก ก็จะพิจารณาให้ผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคกลับบ้านได้ และจะติดตามผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต่อไปจนครบ 21 วัน นับจากวันที่เดินทางออกจากประเทศที่มีการระบาด
นายแพทย์ประเสริฐ กล่าวต่อว่า ผู้อยู่ในเกณฑ์สอบสวนโรครายนี้ ไปโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ซึ่งยังไม่ชี้บ่งชัดเจนว่าเป็นโรคอีโบลาหรือโรคอื่น แต่เนื่องจาก ผู้เดินทางรายนี้มาจากประเทศที่มีการระบาด จึงเป็นผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคอีโบลาเป็นรายแรก ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจสอบระบบความพร้อมการเฝ้าระวังโรคอีโบลาของไทยว่า มีประสิทธิภาพเพียงใด หากพบว่ายังมีจุดอ่อนอย่างไร ก็จะพิจารณาแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้น เท่าที่ผ่านมา เห็นว่าระบบมีประสิทธิภาพดี
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ได้มอบให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ร่วมกันเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่งในภูมิภาค ทั้งด้านมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยและการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ ให้มีความพร้อมโดยเร็ว เพื่อการตรวจวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย รองรับโรคอีโบลาและโรคติดต่ออื่นๆ ในอนาคต
ซึ่งขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สำรวจแล้ว พบว่าส่วนใหญ่มีความพร้อมในการตรวจชันสูตร และกรมวิทย์ฯสนับสนุนการพัฒนาให้โรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่งมีความพร้อมตามมาตรฐานโดยเร็ว และในระยะต่อไปจะพัฒนาห้องตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด เพื่อสนับสนุนการวินิจฉัย และการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สำหรับเกณฑ์ในการวินิจฉัยและรายงานผู้ป่วยโรคอีโบล่า กำหนดเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้เข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (Person under Investigation) ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่การระบาด และมีไข้ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป 2. ผู้ป่วยสงสัย (Suspect case) เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และมีอาการไข้ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ที่คล้ายอาการของโรคอีโบลา เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือมีอาการแย่ลงรวดเร็ว 3. ผู้ป่วยน่าจะเป็น (Probable case) คือ ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด และมีอาการไข้ รวมทั้งมีอาการอื่นๆ ที่คล้ายอาการของโรคอีโบลา เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือมีอาการแย่ลงรวดเร็ว และซักประวัติได้ชัดเจนว่าได้สัมผัสผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และ4. ผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed case) เป็นผู้ป่วยที่มีลักษณะตามข้อ 1 ถึง 3 และมีผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าติดเชื้อไวรัสอีโบลา ทั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขให้เฝ้าระวังโรคผู้ป่วยทุกประเภท ตั้งแต่ระดับแรกคือผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค
ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรคอีโบลาในอาฟริกา ยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลาในทวีปอื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย ผลจากการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ในวันที่ 2 กันยายน 2557 มีผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาดทั้งหมด 25 ราย ไม่พบผู้ใดมีไข้ ยอดสะสมตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2557 รวม 1,049 ราย ทุกรายมีอาการปกติ
- 12 views