ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาในไทย ให้ 15 จังหวัดที่ตั้งด่านระหว่างประเทศ เตรียมความพร้อมระบบการเฝ้าระวังโรค และให้เตรียมการดูแลผู้ป่วยสงสัยอีโบลาโดยโรงพยาบาลศูนย์ทั้ง 28 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งประสานกองทัพร่วมจัดระบบและแนวทางปฏิบัติเตรียมสำหรับการดูแลผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยสงสัย ซึ่งอาจต้องแยกตัวไว้สังเกตอาการ 21 วันตามมาตรฐาน
วันนี้ (1 กันยายน 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคอีโบลา ว่า การระบาดใน 4 ประเทศอาฟริกาตะวันตกยังมีแนวโน้มพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไลบีเรียซึ่งพบผู้ป่วยในทุกจังหวัด องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วย 3,069 ราย เสียชีวิต1,552 ราย ในประเทศกินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และไนจีเรีย นอกจากนี้ มีรายงานพบผู้ป่วยรายแรกที่ประเทศเซเนกัล เป็นนักศึกษาชาวกินี รักษาตัวอยู่ที่เมืองหลวงของประเทศเซเนกัล ส่วนการระบาดของโรคอีโบลาที่ประเทศดีอาร์ คองโก ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดใน 4 ประเทศอาฟริกาด้านตะวันตก โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดทำแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าหมายยุติการระบาดของโรคอีโบลาให้ได้ภายใน 6-9 เดือน
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้จัดการตรวจวัดอุณหภูมิ และบันทึกข้อมูลของผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดทุกคนและติดตามสอบถามอาการต่อเนื่องทุกวัน ผลการคัดกรองผู้เดินทางสะสมตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2557-28 สิงหาคม 2557 รวม 904 คน ยังไม่พบรายใดมีอาการผิดปกติ ขณะนี้ได้ติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว และมีแผนติดตั้งเพิ่มอีก 2 เครื่อง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อเครื่องจากการท่าอากาศยานฯ ทั้งนี้ ให้กรมควบคุมโรค ติดตามประเมินสถานการณ์กับองค์การอนามัยโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการของไทยสอดคล้องกับสถานการณ์โลก
นพ.ณรงค์ กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้ได้สั่งการผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะใน 5 เขตที่ดูแลจังหวัดที่มีท่าอากาศยานนานาชาติ 5 แห่งและท่าเรือ 17 แห่ง รวม 15 จังหวัด ให้ดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง ดำเนินการเฝ้าระวังผู้เดินทางจากต่างประเทศ ทั้งที่ช่องทางเข้าออกประเทศ ที่โรงพยาบาล และในชุมชน ตามแนวทางที่กำหนด สำหรับผู้เดินทางมาทางเครื่องบิน ได้มอบให้กรมควบคุมโรคประสานสายการบินที่มาจากประเทศที่มีการระบาด ให้ประกาศแจ้งผู้โดยสารไปรายงานตัวที่จุดคัดกรองที่ท่าอากาศยาน 2.เตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลศูนย์ 28 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การดูแลหากพบผู้ป่วยสงสัยโรคอีโบลา โดยเน้นความพร้อมของห้องแยกโรคและห้องปฏิบัติการชันสูตร
และ 3.เตรียมโรงพยาบาลชุมชนให้พร้อมกรณีที่อาจต้องดูแลผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยสงสัยอีโบลา ซึ่งจะได้รับการแยกตัวเพื่อการสังเกตอาการ 21 วัน ตามมาตรฐาน พร้อมทั้งการสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับผู้ที่แยกตัวไว้สังเกตอาการและญาติ เพื่อลดความวิตกกังวล
ทั้งนี้ได้ให้กรมควบคุมโรคจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ขณะนี้ส่งไปให้โรงพยาบาลต่างๆ แล้ว 5,000 ชุด จะจัดส่งเพิ่มอีก 8,000 ชุดภายในเดือนนี้ และอีก 30,000 ชุดภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจในความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน
- 2 views