กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยลดสร้างปริมาณขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้เกิดสารอันตรายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2555 พบว่า มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้น ประมาณ 359,070 ตัน ร้อยละ 50.38 ของปริมาณของเสียอันตรายชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 712,770 ตัน โดยสถิติขยะอิเล็กทรอนิกส์ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า แนวโน้มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นิยมใช้ในครัวเรือนมีเพิ่มขึ้น เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์/เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์มือถือ จากข้อมูลในปี 2552 พบว่า โทรศัพท์มือถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการบริโภคสูงสุดกว่า 15 ล้านเครื่อง รองลงมา ได้แก่ โทรทัศน์ มีการใช้กว่า 3.81 ล้านเครื่อง กล้องดิจิตอลและอุปกรณ์ เอ็ม พี 3 แบบพกพา มีการใช้กันกว่า 3.8 ล้านเครื่อง ส่วนคอมพิวเตอร์ มีการใช้งาน 2.8 ล้านเครื่อง โดยอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือ มีอายุเฉลี่ย 3 ปี ทีวีจอซีอาร์ทีหรือจอก้นยาว มีอายุเฉลี่ย 6.9 ปี และโทรทัศน์จอบาง มีอายุเฉลี่ย 3.8 ปี คอมพิวเตอร์ มีอายุเฉลี่ย 3.65 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะมีซากทีวีเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2.8 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์อีกประมาณ 10.9 ล้านเครื่อง และ 2.6 ล้านเครื่อง ตามลำดับ
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อไปว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่มีสารอันตรายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้แก่ 1) ตะกั่วทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด และการพัฒนาสมองของเด็ก ส่วนพิษเรื้อรังจะค่อยๆ แสดงอาการภายหลังการได้รับสารตะกั่วทีละน้อยจนถึงระยะเวลาหนึ่ง จึงจะแสดงอาการ 2) ปรอท เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด ทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ไม่สามารถรักษาให้ดีดังเดิมได้ 3) คลอรีนอยู่ในพลาสติกพีวีซี ก่อสารมะเร็ง เมื่อพลาสติกถูกเผาจะส่งผลต่อระบบหายใจ ระคายจมูก และทำให้เคลือบฟันผุ 4) แคดเมียม มีพิษเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง ไตวาย ไตถูกทำลาย และ 5) โบรมีน เป็นสาร ก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี และรูปทรงของเส้นใยกล้ามเนื้อหัวใจ
"วิธีการป้องกันขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำได้โดยให้ลดการนำเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว (End of Life) นำกลับมาใช้ใหม่ (Re-use & Recycle) เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปริมาณขยะ ซึ่งขณะนี้0สิ่งที่ประเทศไทยได้ทำคือ การจัดทำกรอบระเบียบเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งเป็นกรอบที่รองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระเบียบของสหภาพยุโรป กรอบดังกล่าวประกอบด้วย แนวทางการควบคุมที่ต้นทาง โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมภาษีจากผู้นำเข้าสินค้า และผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แล้วนำเงินไปบริหารจัดการ โดยจะออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียม การตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม การจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างทาง โดยจะไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ใช้มาตรการด้านกลไกตลาด และแนวทางสุดท้ายเป็นการควบคุมที่ปลายทางจะสนับสนุนให้เกิดโรงแยกขยะแบบครบวงจร” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 67 views