กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ระวังการเดินลุยน้ำ ลุยโคลน ช่วงน้ำท่วม เสี่ยงเกิดน้ำกัดเท้า หรือบาดแผลที่เท้า อาจเกิดการเน่าติดเชื้อได้ เนื่องจากบาดแผลหายช้า แนะหากจำเป็นให้ใส่รองเท้าบู๊ท หรือรองเท้าหุ้มส้น เพื่อป้องกันถูกของมีคมบาด ทิ่มแทง หลังขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เกือบทุกภาคของประเทศไทยมีฝนตกหนัก บางพื้นที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมเฉียบพลัน ได้ให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ดูแลอุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ เวชภัณฑ์ เครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองให้อยู่ในที่ปลอดภัย สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกโรงพยาบาล อย่างไรก็ดีในส่วนของประชาชนอาจได้รับอุบัติเหตุขณะขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 3 ล้านคน ทั้งในเขตเมืองและชนบท เนื่องจากจะมีอาการชาที่เท้า อาจไม่รู้สึกตัวว่ามีบาดแผลเกิดขึ้น รวมทั้งแผลจะหายช้า มีความเสี่ยงเกิดการติดเชื้อ แผลเน่ารักษายาก บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นตัดนิ้วเท้าได้
ในการป้องกันการเกิดบาดแผล ขอแนะนำให้ผู้ที่เป็นเบาหวานหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำลุยโคลน เนื่องจาก น้ำมีความสกปรกสูง หากเท้าเปื่อย เป็นโรคน้ำกัดเท้า หรือมีบาดแผลแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม จะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในน้ำเข้าสู่ทางบาดแผลได้ หากจำเป็นขอให้ใส่รองเท้าบู๊ท หรือรองเท้าหุ้มส้น เพื่อป้องกันการเหยียบ เศษวัสดุ หรือสิ่งของมีคมที่อยู่ใต้น้ำ ใต้ดินโคลน หลังขึ้นจากน้ำขอให้ล้างทำความสะอาด เช็ดให้แห้งและให้ตรวจดูฝ่าเท้า ง่ามนิ้วเท้าว่ามีบาดแผลหรือไม่ หากมีบาดแผลให้ทำความสะอาดด้วยน้ำต้มสุกที่เย็นลงแล้ว หรือใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์เช็ดรอบแผล และใส่ยาสำหรับแผลสด เช่นโพวิดีน และสังเกตบาดแผล หากมีการอักเสบ คือ แผลบวม แดง ร้อน รู้สึกปวด หรือมีอาการเนื้อตาย ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน
สำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ควรแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองผิวหนังเปื่อยยุ่ย ผิวหนังลอกเป็นขุย แดง คัน และเป็นโรคน้ำกัดเท้าได้ ดังนั้นภายหลังขึ้นจากน้ำ ขอให้ล้าง ทำความสะอาดร่างกาย ฟอกสบู่ และเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้า หากใส่รองเท้าบู๊ทยาง หลังจาก ใส่เดินลุยน้ำแล้ว ขอให้ล้างทำความสะอาด เทน้ำในรองเท้าทิ้ง และคว่ำให้น้ำไหลออกจากรองเท้าจนแห้ง ก่อนนำมาใช้ครั้งต่อไป
- 15 views