เรื่องของสังคมผู้สูงอายุนี่ มีคนพูดกันในมิติต่างๆ มามาก อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ยังคิดว่า มันต้องการการสื่อสารทำความเข้าใจเพิ่มเติมให้เกิดรูปธรรมเชิงระบบกันมากๆ เพื่อให้สังคม และผู้กำหนดนโยบายหันมาสร้างรูปธรรมเพื่อสุขภาวะของท่านผู้สูงอายุให้สมกับ “ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง” อย่างประเทศไทย
อารัมภบทสักนิด นักประชากรศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ครับ สถิติปี 2553 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) ร้อยละ 12 แล้วก็ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ ไม่ทำอะไรเลย สัดส่วนผู้สูงอายุก็จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ในปี 2573 หรือเท่ากับว่าคนไทยทุกๆ 4 คนจะมีผู้สูงอายุอยู่ 1 คน
แล้วผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในมิติของเรื่องการเงินการคลัง คืออะไร...........
เรื่องที่จะเกิดมันก็มีหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องใหญ่ระดับนโยบาย ถึงระดับครอบครัวเลยละครับ
ระดับนโยบายมหภาค ก็เช่น ทำให้รัฐมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รัฐต้องจัดหาสวัสดิการเพิ่มเติมทั้งในเชิงปริมาณ (เช่น จำนวนเงินที่มาให้เบี้ยผู้สูงอายุ จำนวนสถานสงเคราะห์ในรายที่ท่านผู้สูงอายุไม่มีที่พึ่งพาอาศัย เป็นต้น) และคุณภาพ (เช่น หมอ ยา เครื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือ) เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นเรื่อยๆ
ระดับครอบครัว ก็เช่น จำนวนคนที่จะมาทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งที่เป็นทางการ(formal caregiver: ผู้ดูแลที่เป็นวิชาชีพจากโรงพยาบาลหรือองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง และไม่เป็นทางการ(informal caregiver: ผู้ดูแลให้การช่วยเหลือแก่ผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ผ่านการฝึกอบรมมาก่อน โดยมากมักเป็นลูก หลานหรือสมาชิกในครอบครัว) อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เลนส์ตาต้อกระจก เข่าเทียม ยาโด๊ป (ถ้าอนาคตเกิดมีชุดสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ !!) ถนนหนทางที่เดินเหินสะดวก เป็นต้น
คนก็อาจจะถามว่า อ้าว? ทำไมรัฐ หรือว่าสังคมจะต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องภาระค่าใช้จ่าย และแหล่งเงินทุนสำหรับการจัดหาสวัสดิการผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคต? ........
เรื่องของการจัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุจะไม่มีปัญหา ถ้าคนในสังคม “เป็นคนรวยทั้งหมด” แต่ว่าโลกความเป็นจริง ผู้สูงอายุที่อยู่ในครอบครัวที่มีลูกหลานทำงานนอกระบบในครอบครัวชนชั้นกลางลงไป หรือครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล พื้นที่ชุมชนแออัด หาเช้ากินค่ำ สวัสดิการผู้สูงอายุในระยะยาว จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านสุขภาวะทันที เสถียรภาพทางการเงินของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแล เพราะเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยสูงอายุ รายได้ และทรัพย์สินเงินทองที่เก็บออมอาจไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในการดำรงชีวิต หรืออาจไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและความเสี่ยงที่เกิดจากความจำเป็นในการใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน
ตัวเลขจากรายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะมีระดับรายได้ประมาณ 10,000-50,000 บาทต่อปี (ขอย้ำว่าต่อปี) โดยการกระจายรายได้ของผู้สูงอายุที่อยู่นอกเขตเทศบาลส่วนใหญ่จะมีระดับรายได้อยู่ในช่วงที่ต่ำกว่าผู้สูงอายุในเขตเทศบาล และเมื่อศึกษาถึงแหล่งที่มาของรายได้ จากรายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ.2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้สูงอายุที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังคงได้รับรายได้จากบุตร รองลงมาได้แก่ รายได้จากการทำงาน จากคู่สมรส เงินบำเหน็จบำนาญ และดอกเบี้ย/เงินออม/ค่าเช่า ตามลำดับ ที่น่าตกใจก็คือ แนวโน้มแหล่งรายได้ พบว่า การพึ่งพาแหล่งรายได้จากบุตรและการทำงาน มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุต้องพึ่งพาตนเอง ต้องอาศัยเงินจากระบบบำเหน็จ/บำนาญ เบี้ยยังชีพ คู่สมรส และดอกเบี้ยเงินออม/เงินออม/ทรัพย์สินของตนเพิ่มมากขึ้น
ทีนี้มาดูด้านภาระค่าใช้จ่ายของท่านผู้สูงอายุบ้าง.........
ในช่วงชีวิตวัยสูงอายุเป็นช่วงเวลาที่สมรรถภาพของร่างกายมีแนวโน้มถดถอย ร่างกายและจิตใจเผชิญกับโรคภัยต่างๆมากมาย เรื่องของสุขภาพและการได้รับการดูแลเอาใจใส่จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งค่าใช้จ่ายมี 2 ส่วนหลักๆ คือ 1) ภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล และ 2) ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
ภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุส่วนใหญ่ แม้ว่าจะใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ตามสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิข้าราชการ (และมีบางท่านก็ใช้สิทธิประกันชีวิตเอกชน) แต่ปัญหาก็ยังมี เพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิได้ เนื่องจากในสิทธิประโยชน์ ไม่มีระบุให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปหาหมอ หรือค่าตอบแทนให้แก่คนที่พาไปหาหมอ ครอบครัวที่ยากจน คนหาเช้ากินค่ำ ก็เลยขาดๆ เกินๆ ในการให้ท่านผู้สูงอายุได้รับการดูแลเรื่องโรคเรื้อรังของท่านผู้สูงอายุ อย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาล (เรื่องการดูแลต่อเนื่องสำหรับท่านผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังหรือความพิการ มีเรื่องราวที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเสถียรภาพทางการเงินนัก จะสนทนาพาทีในฉบับถัดไป)
ส่วนเรื่อง ภาระค่าใช้จ่ายในด้านการดูแลระยะยาวของผู้สูงอายุ เช่น การซื้อบริการดูแลระยะยาวจากภาคเอกชน ทั้งแบบไปอยู่ในสถานบริการ เช่น โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา สถานบริบาล และแบบจ้างผู้ดูแลจากศูนย์จัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุมาดูแลที่บ้าน (มีตัวเลขจากการสำรวจของโครงการการเงินการคลังสำหรับการดูแลระยะยาวของผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าหากผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานครต้องการจ้างผู้ดูแลมาดูแลตนที่บ้าน ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุอยู่ที่บ้าน มีราคาอยู่ระหว่าง 6,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ขึ้นกับประสบการณ์ของผู้ดูแลและความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองได้ของผู้สูงอายุ จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง) ในผู้สูงอายุที่มีรายได้ค่อนข้างมากหรือครอบครัวที่มีเงินออมมาก ก็คงไม่มีปัญหามากนัก (ผมคิดเอาเองว่ามีปัญหาไม่มาก) แต่ครอบครัวที่ยากจนหรือไม่มีเงินออมก็จะลำบาก
มาดูปัญหาเงินออมและปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุกันหน่อย
จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พบว่ามีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 31.26 ไม่มีสินทรัพย์หรือเงินออมโดยผู้สูงอายุในเขตเทศบาลที่ไม่มีเงินออมกว่าร้อยละ 34.98 และผู้สูงอายุนอกเขตเทศบาลที่ไม่มีเงินออมมีร้อยละ 29.78 ตามลำดับ และจากรายงานการประมาณการจำนวนผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2551 พบว่า แนวโน้มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศ มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ 1,705 บาทต่อเดือน ถึงร้อยละ 14 ปัญหาที่ผู้สูงอายุไม่ได้ออมเงินหรือสะสมเงินทอง รวมทั้งทรัพย์สินในรูปแบบของสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ไว้ อันเนื่องมาจากไม่มีรายได้ส่วนเหลือจากภาระค่าใช้จ่ายที่เพียงพอสำหรับเก็บออม และปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุ
การเป็นคนแก่ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก การเป็นคนจนก็ยิ่งเป็นเรื่องไม่พึงปรารถนา แต่การเป็นทั้งคนแก่และจน นั่นคือ ความหายนะ การที่ต้องแก่ก็แย่อยู่แล้ว หากการที่แก่แล้วยังต้องพึ่งพาคนอื่น ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระเป็นเรื่องที่เจ็บปวดของสังคมที่สุด
ถึงเวลาแล้วที่รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาคม จะต้องมาร่วมกันสร้าง ระบบการออมระยะยาวเพื่อการชราภาพ คุ้มครองและสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้กับประชาชน ไว้ใช้จ่ายในวัยชรา อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน ป้องกันการตกสู่ความยากจน และสร้างระบบการดูแลระยะยาวที่มั่นคงให้กับภาคครัวเรือน รัฐมีความจำเป็นจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และหลักประกันการดูแลระยะยาวให้แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถดำเนินชีวิตในวัยสูงอายุได้อย่างสมศักดิ์ศรี มีคุณค่าแก่สังคม ในระยะยาวต่อไป
ผู้เขียน นายแพทย์ ชูชัย ศรชำนิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)
- 45 views