ไทยรัฐ -นับเนื่องจากเงื่อนปัญหาระบบ บริการสุขภาพคนไทยระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เป็นประเด็นร้อน ถือเป็นความเห็นที่แตกต่าง ที่เป็นเรื่องดี

“การปฏิรูประบบสุขภาพ” ต้องพัฒนาเดินหน้าสำหรับคนไทยทุกคน แต่ต้องไม่ใช้เรื่องส่วนตัวมาเป็นประเด็นบิดเบือน ทำให้สังคมเข้าใจผิด

ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในทางการแพทย์ต้องทบทวนตนเองว่า ได้ทำตามที่พระราชบิดาทรงสั่งสอนไว้หรือไม่ ที่ให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์เพื่อมนุษย์หรือสังคมส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง

เหรียญด้านหนึ่งมองเรื่องการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ ไปยังข้าราชการส่วนท้องถิ่น กระจายการจัดการบริหารหลักประกันสุขภาพให้เข้าไปใกล้ประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ระบบสามารถรับรู้ปัญหาได้เร็ว ตอบสนองปัญหาได้เร็ว แต่เหรียญอีกด้านหนึ่งมองว่า...

“เขตสุขภาพเป็นของขวัญประชาชนคนไทยทุกคนที่จะร่วมเป็นเจ้าของ เพราะเขตสุขภาพประชาชน ประชาชนสามารถบอกปัญหาและความต้องการของตนเองด้านสุขภาพได้ รวมทั้งกำหนดทิศทางเป้าหมายที่จะทำให้เพิ่มการบริการสุขภาพของประชาชนในเขตได้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยบริการและหน่วยจ่ายเงินที่จะไปดำเนินตามพันธสัญญา และมติของการตัดสินใจร่วมกันของคณะกรรมการเขต”

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์

ความจำเป็นของการปฏิรูประบบสุขภาพ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า หากย้อนปัญหาในอดีต จะเห็นว่า...ระบบสุขภาพขาดทิศทาง เน้นการซ่อมสุขภาพมากกว่าการสร้างสุขภาพ

ส่วนปัญหาในปัจจุบัน ก็คือ...ความเหลื่อมล้ำในระบบ ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ วัฒนธรรมการใช้สอยเงิน ประสิทธิภาพของระบบ การพัฒนาบุคลากร ทุกข์ของบุคลากร ความแออัดโรงพยาบาล...การเข้าถึงบริการมากขึ้น ใช้การเงินนำระบบ ขาดการบูรณาการทั้งการบริหารจัดการกับการเงิน

สำหรับ...ปัญหาในอนาคต ประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะเพิ่มสูงมากขึ้น โดยสรุปแล้ว นพ.วชิระ ชี้ว่า ปัญหาใหญ่นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตแล้ว ยังขาดประสิทธิภาพและทิศทางของระบบ กระทรวงสาธารณสุขที่มีบุคลากรและสถานบริการที่มากมาย ไม่สามารถกำกับได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่...

ทำให้ทิศทางของ “ระบบ” ถูกนำโดย “การเงิน”...“ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ทั้งในส่วนการเข้าถึงบริการ หรือแม้กระทั่งระบบค่าตอบแทนของบุคลากรในระบบ”

ประเด็นสำคัญมีอีกว่า...มีการแทรกแซงได้ง่ายจากทางการเมือง ทำให้โรงพยาบาลในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันตามที่ปรากฏอยู่จริง หรือแม้กระทั่งในระบบด้วยกันเอง ชนิดมือใครยาวกว่าก็สาวได้มากกว่า

หากไม่เชื่อ ลองไปดูโรงพยาบาลของผู้นำบางท่านว่ามีอะไรที่มากกว่าโรงพยาบาลอื่น...หรือไม่? เพราะเหตุใด?

คำถามมีว่า...ทำไมต้องระดับเขต ใช้ระดับโรงพยาบาลได้ไหม คำตอบคือหากใช้ระบบงบประมาณแบบที่ สปสช. ดำเนินการมา 10 กว่าปี โรงพยาบาลที่ขาดทุนยังเหมือนเดิม ประมาณ 30% และผลการดูแลรักษาไม่ได้ดีขึ้น ยกเว้นมาโรงพยาบาลง่ายขึ้นและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่านั้น

ความรับผิดชอบนี้คงไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว

ที่สำคัญการจ่ายเงินมีผลเป็นอย่างมาก หรือ สปสช.จะปัดความรับผิดชอบนี้ เพราะเป็นผู้ออกแบบการจ่ายเงินมา 10 กว่าปี ขยับมาที่ระดับจังหวัด ก็ยังมีจังหวัดที่มีประชากรน้อย หลัก 2-3 แสนกับมากถึงหลัก 2-3 ล้าน...ความแตกต่างนี้ก็ยังทำให้จังหวัดที่ขาดทุนมีงบประมาณไม่เพียงพออยู่ 20-25%

ขยับขึ้นมาในระดับเขตที่มีประชากร 3-5 ล้านคน ครอบคลุม 5-8 จังหวัด 12 เขตทั่วประเทศ และ กทม. อีก 1 เขต เป็นระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ หากใช้ความสามารถบุคลากรในการทำงานที่มีผู้ป่วยที่คุ้มค่าในการจัดระบบและความเชี่ยวชาญตามระดับโรงพยาบาลในระดับเขต จะทำได้ครอบคลุมดีที่สุดและคุ้มค่ามากที่สุด

นอกจากนี้ หากไปดูมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ข้อ 2.2 ให้วางแผนระบบบริการสุขภาพ “Health Service Plan” ...“โดยคำนึงถึงขนาดประชากรที่รับผิดชอบที่เหมาะสม ให้สามารถจัดบริการเบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยเป็นการจัดบริการร่วมกันเป็นเครือข่ายเดียว อย่างไร้รอยต่อ และมีระบบบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมภายในเครือข่าย”

ต้องย้ำว่า...ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดและแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการ จะเห็นว่าเป็นไปตามมติสมัชชาแห่งชาติ ที่มีสมัชชาประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนมากกว่าบางกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นและออกมาร้องตามใบสั่งหรือปกป้องประโยชน์ตนเอง

ประเด็นโต้แย้งต่อมา กรณีอำนาจของเขตจะรวบอำนาจมาไว้ที่เขตหรือไม่ ก็ไม่ใช่เช่นที่กล่าวหากัน นพ.วชิระ อธิบายว่า อำนาจที่มีอยู่เดิมในระดับอำเภอและจังหวัดยังเหมือนเดิม แต่อำนาจในเขตมาจากอำนาจที่เหนือจังหวัดและถ่ายโอนมาจากอำนาจของปลัดกระทรวง จึงยิ่งไม่ใช่การรวบอำนาจกลับเป็นการกระจายอำนาจมากกว่าและเมื่อพร้อม อาจจะออกเป็นองค์กรอิสระตามแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

การบริหารแบบเขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข...ที่อยู่ใต้เขตสุขภาพเพื่อประชาชน ดีกว่าเดิมอย่างไร?

ที่สำคัญคือ การบริหารร่วมและการจัดบริการร่วม ให้ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด โดยคำนึงถึงสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ

ตัวอย่างเช่น การวางแนวคิดเป็นเครือข่ายเดียวกัน ทำให้มีการพัฒนาการจัดบริการให้ใกล้บ้านมากขึ้นและลดความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ เช่น การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเป็นโรงพยาบาลกายภาพบำบัดหรือโรงพยาบาลให้ยามะเร็ง ในโรงพยาบาลที่ว่าง มีผู้ป่วยน้อย ทำให้การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ไม่คิดว่าเป็นโรงพยาบาลของฉัน โรงพยาบาลของเธอ แต่เป็นโรงพยาบาลของพวกเรา เพื่อประชาชน

หรือแม้กระทั่งการพัฒนาให้โรงพยาบาลต่างๆมีศักยภาพที่ใกล้ชิดประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเน้นย้ำในระดับอำเภอให้มีการจัดสรรทรัพยากรให้มากขึ้น บริหารจัดการในรูปคณะกรรมการที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อจะได้มาจัดระบบการส่งเสริมป้องกันโรคได้มากขึ้นและเน้นการมีส่วนร่วม

ในส่วนของ “เขตสุขภาพเพื่อประชาชน” ก็จะมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างแท้จริง มากำหนดทิศทางของระบบบริการในเขตสุขภาพต่อไป...ไม่ใช่กลุ่มจัดตั้งของใครบางกลุ่มแล้วออกมาอยู่เสมอ หรือกลัวว่าต้องเสียอำนาจไปเพราะต้องกระจายไปเขตสุขภาพ 12 แห่ง

เห็นภาพเช่นนี้แล้ว ให้น่าสงสัยว่า...ใครกันที่กลัวการถ่ายโอนอำนาจ ?

“ทุกวันนี้ส่วนกลางของ สปสช. กำหนดหลักเกณฑ์ปลีกย่อยที่ปรับไม่ได้เลย ซึ่งแสดงถึงการจัดการที่ส่วนกลาง อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางทั้งหมด หากถ่ายโอนไปให้คณะกรรมการที่มีทุกภาคส่วนอยู่และกำกับตรวจสอบจะเป็นการถ่ายโอนอำนาจอย่างแท้จริง หรือใครยังหวงอำนาจนี้อยู่ น่าจะมีการตรวจสอบในการจัดการอย่างจริงจังต่อไป”

หัวใจการแบ่งเขตการบริการสุขภาพเป็นเช่นนี้... “เราอยากจะบอกกับประชาชนว่าเรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นการปฏิรูประบบสุขภาพใหญ่ของประเทศ...ซึ่งกลไกที่เกี่ยวข้องต้องปรึกษาหารือกัน ในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม” นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 14 สิงหาคม 2557