สธ.ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาเขตบริการสุขภาพ แก้ปัญหาสาธารณสุขสอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รพ.เติบโตมีทิศทางตามความจำเป็นของประชาชน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนอดีต แต่บริหารในระดับเขตครอบคลุมการเงินการคลัง การกระจายกำลังคน และทรัพยากรเครื่องมือแพทย์ ช่วยประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเสมอภาคมีมาตรฐานเดียวกันทุกเขต เผยผลสำเร็จที่ผ่านมาช่วยผู้ป่วยเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่เคยเข้าถึงน้อย เช่น โณคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และจิตเวช ตั้งเป้าเห็นผลสำเร็จใน 3 ปี
8 ส.ค.57 ที่โรงแรมเซนทารา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญโรคเช่นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง เด็กแรกเกิด รวม 10 สาขา ทั้งจากส่วนกลางและจาก 12 เขตบริการสุขภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) เพื่อติดตามผลการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลความสำเร็จของงาน ทั้งในด้านการบริหารจัดการเขตบริการสุขภาพ การพัฒนาระบบบริการ ที่แต่ละเขตบริการสุขภาพได้มีความมุ่งมั่นในการดำเนินการพัฒนางาน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของทั้งประเทศในอนาคต
นพ.ณรงค์กล่าวว่า ประเด็นการจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ เป็นการตั้งต้นของการจัดบริการในรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ ซึ่งมีทิศทางการพัฒนาระบบบริการร่วมกันที่ชัดเจนทั้งการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค โรงพยาบาลเติบโตอย่างมีทิศทาง สอดคล้องกับปัญหา ความจำเป็นของประชาชน ต่างจากอดีต ซึ่งเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ซี่งการบริหารงานภายใต้เขตบริการสุขภาพ จะครอบคลุมทั้งการเงินการคลัง การกระจายกำลังคนและทรัพยากรเครื่องมือแพทย์ต่างๆ วิธีการทำงาน การจัดระบบบริการ เขตบริการสุขภาพจะสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการของประชาชนทุกจังหวัด และมาตรฐานเดียวกันทุกเขต โดยกำหนดเป้าหมายดำเนินการภายใน 3 ปี
ทั้งนี้ เมื่อเกิดเขตบริการสุขภาพและมีระบบการบริหารร่วมที่ระดับเขตแล้ว สิ่งที่ส่วนกลาง จะดำเนินการต่อไปคือการบูรณาการหน่วยงาน มีการบริหารจัดการกำลังคน งบประมาณในระดับเขต ปีนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารรูปแบบของเขตบริการสุขภาพ ต้องพัฒนาเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการพัฒนาของเขตบริการสุขภาพที่เริ่มเห็นผลปรากฏหลายเรื่องที่แก้ปัญหาประชาชนเข้าถึงบริการได้น้อย เช่น โรคหัวใจเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง มีการกระจายยา และสร้างเครือข่ายดูแลไปถึงโรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. ประชาชนเข้าถึงบริการได้รวดเร็ว ลดการเสียชีวิตได้ดีขึ้น การจัดบริการผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งมีนับล้านคน ที่ผ่านมาผู้ป่วยเข้าถึงบริการอยู่ไม่ถึงร้อยละ 50 เนื่องจากมีโรงพยาบาลเฉพาะทางน้อย แต่เมื่อจัดบริการแบบเขตบริการสุขภาพ ทำให้สามารถกระจายยาที่ใช้รักษา 31 รายการ ไปถึงโรงพยาบาลชุมชน ประชาชนได้รับยาตัวเดียวกับที่ใช้ในโรงพยาบาลจิตเวช ส่งผลให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น
- 2 views