แพทย์ชนบทแถลงการณ์ถึงคสช. ค้านแนวคิดตั้งเขตสุขภาพประชาชน ชี้เป็นผลไม้พิษตกค้างจากการเมืองเก่าที่เกิดจากการผลักดันของอดีตรมว.สธ.จากเพื่อไทย และปลัดสธ. คนปัจจุบัน ไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการเพิ่มอำนาจส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากขึ้น สวนทางข้อเสนอการปฏิรูปที่ต้องกระจายอำนาจ หวั่นเกิดหน่วยงานเทียบเท่ากรมขึ้นมาอีก 12 กรม เป็นแนวคิดถอยหลังเข้าคลอง ทำลายระบบสาธารณสุขของไทย

7 ส.ค.57 ชมรมแพทย์ชนบทได้ออกแถลงการณ์ถึง หัวหน้าฝ่ายสังคม จิตวิทยา คสช. และประชาชน เรื่อง “เขตสุขภาพประชาชน” ไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูป แต่เป็นผลไม้พิษที่ตกค้างจากการสมคบคิดและผลักดันของปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับอดีต รมว.สาธารณสุข พรรคเพื่อไทย เพื่อทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน

ถ้าจำกันได้ก่อนการเคลื่อนไหวของ กปปส. นับแต่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เข้ามารับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ครั้งเป็น รมว.(เงา) สาธารณสุข ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทั้งสองได้พยายาม “สร้างผลงาน” เพื่อหวัง “ฝากชื่อ” ไว้ แต่เวลาผ่านไปเกือบสองปี แทนที่จะ “สร้างชื่อเสียง” ไว้ในวงการสาธารณสุข กลับได้แต่ “ชื่อเสีย” ซ้ำแล้วซ้ำอีก สิ่งที่พยายามทำ นอกจากมีแต่ทำให้ “เสียของ” แล้วยังทำให้ “ของเสีย” คือทำให้ของดีๆ ที่คนเก่าๆ สร้างให้ไว้กับกระทรวงสาธารณสุข เสียไปอีกด้วย

เริ่มจากระบบ พีฟอร์พี (ระบบผีล่าแต้ม) นพ.ณรงค์ และ นพ.ประดิษฐ พยายามผลักดันจนเกิดการต่อต้านจาก รพ.ชุมชนทั่วประเทศ กระทบไปจนถึงตัวอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เพราะนอกจากจะไม่เกิดผลดีแล้ว ยังเป็นการทำลายระบบ และเมื่อถูกต่อต้านก็มีการปลุกระดมเจ้าหน้าที่ของ รพ.ขนาดใหญ่ออกมา “ชน” จนเกิดการแตกแยกร้าวฉานอย่างรุนแรงในระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อน    แต่สุดท้าย นพ.ประดิษฐ และพรรคเพื่อไทย คงรู้แล้วว่า “เลือกคนผิด” โดยนอกจากไม่สามารถสร้างชื่อเสียงได้แล้ว ยังต้อง “เจ็บช้ำ” เพราะถูกทรยศหักหลังอีกด้วย

งานชิ้นต่อมา คือความพยายาม “ถอยหลังเข้าคลอง” ดึงอำนาจการบริหารงบประมาณจาก สปสช. มาบริหารเอง ซึ่งผิดหลักการการแยกบทบาท “ผู้ให้บริการ” ของกระทรวงสาธารณสุข กับ “ผู้จัดหาบริการ” ของ สปสช. ออกจากกัน เมื่อเริ่มมี สปสช. กฎหมายคือ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี “บทเฉพาะกาล” ให้กระทรวงสาธารณสุขบริหารงบประมาณต่ออีก 3 ปี แทนที่จะทำให้ดี กลับมีปัญหารุนแรง เกิดปรากฏการณ์โรงพยาบาล 200 กว่าแห่งขาดทุนจนทำท่าจะ “เจ๊ง” ขณะที่มี 200 กว่าแห่ง “รวย” จนอู้ฟู่ ก็ยังมีความพยายามจะขยายบทเฉพาะกาลขอบริหารต่ออีก แต่ไม่สำเร็จ เมื่อ สปสช. เป็นผู้บริหารเต็มตัว เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกปี ความไม่พอใจของบุคลากรลดลงทุกปี แต่ นพ.ณรงค์ ก็พยายาม “จับผิด” หาเรื่องโจมตี สปสช. เพื่อดึงเงินงบประมาณก้อนนี้กลับไปกระทรวง โดยไม่คำนึงถึงความล้มเหลวของการบริหารงบประมาณเหมาจ่ายสำหรับดูแลแรงงานต่างด้าวและกลุ่มคนชายขอบ หรืองบลงทุนค่าเสื่อมปี 2557 ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแลจนขนาดนี้ใกล้สิ้นปีงบประมาณยังไม่ได้จัดสรรให้หน่วยบริการในพื้นที่เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ นพ.ณรงค์ จับมือกับ นพ.ประดิษฐ พยายามจะทำอย่างเต็มที่ในสมัยพรรคเพื่อไทยมีอำนาจ โดยหวังว่าจะเป็นงานชิ้น “โบแดง” แต่ยังไม่ทันสำเร็จเพราะเกิด คสช.และ นพ.ประดิษฐ หมดอำนาจไปก่อน คือ การสร้าง “เขตสาธารณสุข”(ระบบผีกินรวบ) ขึ้น เพื่อจะรวบอำนาจการบริหารระบบสาธารณสุขที่เคยมอบอำนาจให้ สสจ. 76 จังหวัด และ รพ. กว่า 1,000 แห่ง กลับเข้าเขตตรวจราชการ 12 เขต เพื่อง่ายกับการเข้าแทรกแซงจัดซื้อจัดจ้างของนักการเมือง และเพื่อต่อรองให้ สปสช.จัดงบประมาณแบบเหมาแข่งซื้อบริการระดับเขต โดยอ้างว่าจะทำให้ระบบบริการต่างๆ ทั่วประเทศดีขึ้น แต่ผลจริงๆ น่าจะกลับตรงข้าม เพราะเป็นความคิดที่ “ย้อนยุค” ขัดต่อโครงสร้างระบบบริหารราชการแผ่นดิน แทนที่จะแก้ปัญหากลับจะเพิ่มปัญหา เพราะ

1) ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย มีแต่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวม 3 ระดับ ถ้าสร้างกลไก “บริหาร” ในระดับเขต จะต้องไปแก้กฎหมายเรื่องนี้ ซึ่งไม่ควรกระทำโดยเด็ดขาด เพราะเหตุผลข้อต่อไปคือ 

2) การบริหารที่มีประสิทธิภาพ จะต้องลดขั้นตอนลง แทนที่จะเพิ่มขึ้น คณะกรรมการปฏิรูปทุกชุดทุกสมัย ล้วนเสนอให้ลดบทบาทส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคลง เพิ่มบทบาทท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อให้สนองตอบต่อการแก้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ได้ถูกต้อง ตรงจุด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเพิ่มกลไกบริหารระดับเขต จึงเป็นความคิดที่ “ผิดยุค” ผิดหลักการบริหารราชการแผ่นดินเป็นการเพิ่มช่วงชั้นการบริหารขึ้นมาอีก 1 ชั้น   

3) การสร้าง “เขตสุขภาพ” ตามแนวคิดและความพยายามของ นพ.ณรงค์ และ นพ.ประดิษฐ จะเท่ากับเพิ่ม “กรม” ขึ้นอีก 12 กรมในกระทรวงสาธารณสุข เพิ่ม “อธิบดี” อีก 12 คน ต่อจากนั้นก็จะต้องหาคน หาที่ทำการ หาสิ่งของเครื่องใช้มากมายขึ้นมารองรับ เวลานี้ก็ดึงคนเข้ามาเขตละ 40-50 คน ต่อไปก็จะเพิ่มเป็น 100-200 คน เป็นการดึงคนออกจากระบบบริการซึ่งขาดแคลนอยู่แล้ว มาทำงานที่ไม่ก่อให้เกิด “มรรคผล” ใดๆ

4) ถ้า ตั้งเขตสุขภาพสำเร็จ นอกจากต้องเสียคน เสียเงิน ไปโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ต่อไปวันข้างหน้า เจ้าหน้าที่ในพื้นที่แทนที่จะถูกส่วนกลางคือกระทรวงและกรมต่างๆ เรียกประชุมจนเสียเวลาทำงาน “บริการ” หรือ “แก้ปัญหา” ให้ประชาชนไปปีละมากมายแล้ว ต่อไปจะต้องถูกเรียกไปประชุมที่เขต และต้องแบ่งเวลาทำงานให้เขต ส่งรายงานให้เขต จะดูไม่จืดเลย 

5) ถ้า นพ. ณรงค์ ภายใต้การเปลี่ยนขั้วหักหลังทางการเมือง ยืมมือฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.ตั้งเขตสุขภาพ 12 เขตขึ้น เพิ่มอธิบดีขึ้นอีก 12 กรม สำเร็จ จะไม่ก่อผลกระทบทางเสียหายมากมายในระบบสาธารณสุขเท่านั้น  แต่อาจจะทำให้เกิดการ “ปล่อยผี” ครั้งใหญ่ เข้าขั้นเสมือนกับการเปิดกล่อง “แพนโดร่า” ให้อีก 19 กระทรวงที่เหลือ “เดินตาม” ตั้งอธิบดีเพิ่มได้ ก็จะสร้างปัญหาไปทั่ว ประเทศไทยจะ “ถอยหลัง” เพราะกลไกเขตที่ “หน่วงเหนี่ยว” การบริหาร  ที่ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อประชาชน

โดยสรุป เขตสุขภาพ จะเพิ่มค่าใช้จ่าย เพิ่มงาน เพิ่มภาระ เพิ่มขั้นตอนไม่ยึดโยงกับระบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เขตสุขภาพ จึงไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูปอย่างแน่นอน     

หน้าที่สำคัญของ คสช. และเป็นความหวังเพื่อที่จะคืนความสุขให้กับประชาชนและระบบสาธารณสุข คือ การเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Do the right thing) และดำเนินการบริหารให้ถูกต้อง (Do the thing right) ดังนั้น ชมรมแพทย์ชนบทและภาคีปฏิรูประบบสาธารณสุขต่างๆ คาดหวังว่าหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช.จะเข้าใจสถานการณ์ว่า “เขตสุขภาพ” หรือที่จะใส่เสื้อใหม่หลอก คสช. หลอกประชาชน เป็น “เขตสุขภาพประชาชน” ไม่ใช่คำตอบของการปฏิรูป แต่เป็นผลไม้พิษที่ตกค้างจากการสมคบคิดและผลักดันของปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับอดีต รมว.สาธารณสุข พรรคเพื่อไทย เพื่อทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชน  การเลือกทำสิ่งที่ผิด (Do the wrong things) ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง พีฟอร์พี(ระบบผีล่าแต้ม) หรือเรื่องเขตสุขภาพ (ระบบผีกินรวบ) ที่เปลี่ยนสีแปรธาตุหลอก คสช.และประชาชน เป็นเขตสุขภาพประชาชน  ซึ่งล้วนสร้างปัญหา (Do the thing wrong) ที่ไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนคนไทยเลย มีแต่จะสร้างปัญหา สร้างความแตกแยก ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่ายุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ทำไว้กับระบบสาธารณสุขของไทย และจะได้รับการคัดค้านอย่างต่อเนื่องจากสังคม  ถ้าฝ่ายสังคม จิตวิทยา คสช.หลงเชื่อปล่อยให้ผลไม้พิษตกค้างไว้เช่นนี้ จะไปปฏิรูปอะไรได้ ซ้ำระบบที่ดีๆ ที่คนเก่าๆ และคนจำนวนมากในปัจจุบันช่วยกันสร้างและรักษาไว้ มีแต่จะถูกบ่อนทำลายลงไปเรื่อยๆ ประชาชนนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์ที่ควรได้รับแล้ว ยังต้องได้รับความเดือดร้อนจากการถอยหลังลงคลองของระบบสาธารณสุขไทยที่เคยเป็นที่ชื่นชมขององค์กรนานาชาติ และชมรมแพทย์ชนบทจะร่วมกับภาคีปฏิรูประบบสุขภาพคัดค้านไม่ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ชมรมแพทย์ชนบทและภาคีปฏิรูประบบสุขภาพ

7 สิงหาคม 2557