สธ.สั่งรพ.ทุกแห่งป้องกันน้ำท่วม พร้อมให้บริการผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ย้ำเตือนประชาชนเลี่ยง 10 เมนูเสี่ยงอาหารเป็นพิษ อาทิ ลาบ ก้อยดิบ ยำกุ้งเต้น ยำหอยแครง อาหารผสมกะทิหรือราดกะทิ น้ำแข็ง เป็นต้น โดยเฉพาะข้าวกล่องที่ได้รับบริจาคในช่วงน้ำท่วม ควรบริโภคใน 4 ชั่วโมง เผยรอบ 7 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ 73,519 ราย ย้ำวิธีป้องกันให้กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้หน่วยงานและโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับ เตรียมการป้องกันน้ำท่วมอาคารสถานที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เคยถูกน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา หรือมีความเสี่ยง เช่น อยู่ในที่ลุ่ม ให้ขนย้ายยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ และเครื่องปั่นไฟไว้ในที่สูง เพื่อลดความสูญเสีย พร้อมให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง และให้จัดเตรียมแผนบริการประชาชนในกรณีที่เกิดน้ำท่วม ทั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ทีมฟื้นฟูเยียวยาทางสุขภาพจิต การจัดระบบบริการเฉพาะกลุ่มที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งการปรับบริการนอกพื้นที่ หากประชาชนเดินทางไปรักษาหรือไปตามนัดไม่ได้
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วมคือส้วมอาจใช้การไม่ได้ เสี่ยงเกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วงหรืออาหารเป็นพิษได้ง่าย พบได้ทุกปี โดยอาหารที่ประชาชนควรหลีกเลี่ยงบริโภค 10 รายการ ได้แก่ ลาบ/ก้อยดิบ ยำกุ้งเต้น ยำหอยแครง ข้าวผัดโรยเนื้อปู อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ สลัดผัก และน้ำแข็ง เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ในวัตถุดิบ หรือบูดเสียง่าย โดยหลังรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปประมาณ 1-7 ชั่วโมง จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนอย่างรุนแรง ท้องเสีย ปวดท้อง อ่อนเพลีย หากมีอาการรุนแรง อาจเกิดตะคริวที่ท้อง ชักกระตุก ช็อก และหมดสติ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ความรู้ประชาชน เพื่อป้องกันการป่วยจากโรคดังกล่าว และให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้การรักษาทันที โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ หากถ่ายเหลวเกิน 2 ครั้งขึ้นไป ให้รีบไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือ อสม.ที่อยู่ใกล้บ้าน
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 27 กรกฎาคม พบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษ 73,519 รายจาก 77 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการมักไม่รุนแรง ในเบื้องต้นประชาชนสามารถรักษาโรคนี้ได้เอง โดยดื่มสารละลายเกลือแร่แทนน้ำเปล่า ไม่ซื้อยาฆ่าเชื้อมารับประทานเอง หากอาการไม่ดีขึ้น อ่อนเพลียมากให้รีบไปพบแพทย์
สำหรับการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษที่ดีที่สุดคือ ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อาหารค้างคืนต้องอุ่นให้เดือดก่อน ในกลุ่มอาหารทะเลต้องปรุงสุก หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปลาหมึก ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ควรรับประทานทันที หรือไม่เกิน 2 - 4 ชั่วโมงหลังจากปรุงเสร็จ ส่วนอาหารถุงและอาหารกล่อง ควรบรรจุแยกกันระหว่างข้าวและกับข้าว ควรรับประทานภายใน 4 ชั่วโมง อาหารบริจาคเช่น อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องกระป๋อง ก่อนบริโภคขอให้ตรวจดูวันหมดอายุ ดูสภาพสีกลิ่น และภาชนะบรรจุ หากหมดอายุหรือมีลักษณะผิดปกติ เช่น กระป๋องบุบ บวม มีสนิมให้ทิ้ง
- 6 views