คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผลักดันแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาโฆษณาผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ยกเป็นวาระแห่งชาติ กสทช.คุมเข้มผู้ประกอบการทีวีและวิทยุ ส่วน อย.เร่งตรวจสอบทั้งผลิตภัณฑ์และโฆษณาผิดกฎหมาย เพิ่มกฎหมายผู้กระทำผิด พัก-เพิกถอนใบอนุญาตทันที
29 ก.ค. 57 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. เมื่อเร็วๆนี้ ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธาน ได้เห็นชอบ แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑ ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๖ พ.ศ.๒๕๕๖ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หวังยกเป็นวาระแห่งชาติ กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“ต้องชื่นชมสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งเครือข่าย เช่น กสทช. แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา(กพย.) ที่รับลูกตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาโฆษณาฯทันที นับแต่มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๔ เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และร่วมกันเป็นเจ้าภาพยกร่างแผนยุทธศาสตร์ฯนี้ โดยผ่านเวทีรับฟังความเห็นจาก ๔ ภูมิภาค ”
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับช่วยจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ในส่วนของคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)นั้นอยู่ระหว่างผลักดันการปรับปรุง พ.ร.บ.ยา และพ.ร.บ.อาหาร เพื่อให้มีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น หากมีการผลิตและโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงกระชับการตรวจสอบและดำเนินคดีให้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดมากขึ้น พร้อมปรับกลไกการขอใบอนุญาตและกระบวนการเพิกถอนใบอนุญาตของผู้ที่กระทำผิดกฎหมายให้รวดเร็วควบคู่กันด้วย
“แผนยุทธศาสตร์ฯจะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิดได้ จะไม่ได้ดูเฉพาะการโฆษณาเท่านั้น แต่จะพิจารณาไปถึงตัวสินค้าด้วยว่าผลิตตรงตามฉลาก มีการลักลอบหรือผลิตโดยไม่ขออนุญาตหรือไม่ด้วย”
ส่วนการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ขณะนี้ได้ประสานงานผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วม ที่ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น ส่งผลให้การแก้ปัญหาการโฆษณาที่ผิดกฎหมายของอาหารและยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ มีความรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย.กับ กสทช. ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งพัก หรือเพิกถอนใบอนุญาต ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกโฆษณา หากละเลยจะถือเป็นผู้มีส่วนทำผิดกฎหมาย
ภก.ประพนธ์ กล่าวเสริมว่า การทำงานผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ถือว่ามีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อบูรณาการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาสังคม และท้องถิ่น ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแล
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ นายกแพทยสภา กล่าวเสริมในที่ประชุมว่า แผนยุทธศาสตร์ฯควรเสริมเรื่องจริยธรรมและหลักวิชาการของผู้ประกอบวิชาชีพ เพราะบางครั้งการโฆษณานั้นไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดจริยธรรมหรือหลักวิชาการ ขณะที่ ภญ.วิทยา กุลสมบูรณ์ อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สิ่งที่ต้องผลักดันควบคู่กันไปกับแผนยุทธศาสตร์นี้ คือ การเสริมพลังผู้บริโภค โดยเสนอให้เร่งผลักดันองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ย้ำในท้ายที่สุดว่า การมีโรดแมพเพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯนี้มีความสำคัญ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว โดยต้องระบุเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วนไปสู่การปฏิบัติ และเป็นเวทีในการติดตามการดำเนินงาน
ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์ฯได้ตั้งเป้าชัดเจนที่จะลดปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายนี้ลงไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ และสนับสนุนให้สื่อทุกประเภท มีจริยธรรมและไม่โฆษณาผิดกฎหมาย เกิดเป็น “สื่อสีขาว” ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ พร้อมทั้งสร้าง “พื้นที่ต้นแบบ” ในการจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมาย อย่างน้อยจังหวัดละ ๑ พื้นที่ ภายในปี๒๕๖๑
- 5 views