“หมออำพล” ค้านให้ "ประกันชีวิต" ดูแลเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ชี้แก้ปัญหาไม่ตรงจุด หวั่นดูดงบบริหารจัดการอีก 40% เตือนให้ดูตัวอย่างปัญหาจาก พ.ร.บ.ประกันภัยบุคคลที่ 3 เสนอทางออก ให้มีศูนย์หมอดูแลสุขภาพ ขรก.ประจำ รพ.รัฐ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงแนวคิดที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจะเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไปให้บริษัทประกันชีวิตของเอกชนดูแลแทนว่า ก่อนอื่นขอชมรัฐบาลที่พยายายามปฏิรูปเรื่องนี้เพื่อควบคุมการใช้จ่ายและให้มีคุณภาพดีขึ้น และอยากฝากให้กำลังใจ เพราะถือว่า คิดดี ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ปัญหาเรื่องนี้ ทุกอย่างก็จะบานปลายได้
อย่างไรก็ตามเห็นว่า ความพยายามที่จะให้บริษัทประกันชีวิตของเอกชนมาดูแลค่ารักษาพยาบาบาลข้าราชการเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งต้องเสียค่าบริหารจัดการให้กับบริษัทประกันของเอกชนอีกเกือบ 40% ยิ่งรัฐบาลต้องคุมงบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เหลือ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี หากต้องมาหักค่าจัดการนี้อีกก็จะเหลืองบประมาณที่มาดูแลค่ารักษาพยาบาลข้าราชการไม่มาก ที่สำคัญ ขอให้ดูจากตัวอย่างกรณีผู้เอาประกันจากการประสบภัยจาก พ.ร.บ.ประกันภัยบุคคลที่ 3 ที่มีปัญหาในการใช้สิทธิมาก สะท้อนการบริหารจัดการของบริษัทประกันภัยพอสมควร อีกทั้งยังซ้ำซ้อนกับระบบประกันสังคมที่มีอยู่
"บริษัทประกันเขาจะมีค่าจัดการ 30-40% อยู่แล้ว แล้วทำไมถึงต้องไปให้เอกชนทำ มันไม่จำเป็นต้องเสียตรงนั้น และเงินมันก็ยิ่งน้อย และบานปลายเต็มที มันไม่ได้มีเหตุผลเลย ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า ระบบบริการที่ไม่ได้ออกแบบ และการเป็นค่ารักษาแบบปลายเปิด เบิกได้ทุกอย่างไม่อั้น มันก็ไปกันใหญ่ ฉะนั้นการแก้เรื่องนี้ไม่ตรงจุด" นพ.อำพล กล่าว
นพ.อำพล กล่าวว่า ปัญหาสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่ใช้งบประมาณสูงขึ้น มาจากระบบสวัสดิการข้าราชการที่ให้เบิกจ่ายแบบไม่อั้น ข้าราชการสามารถรักษาพยาบาลที่ไหนก็ได้ ไม่มีการกำจัดวงเงิน จึงทำให้เกิดการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น ดังนั้นการแก้ปัญหาระบบสวัสดิการข้าราชการนั้นต้องคิดทั้งระบบ ทั้งการบริหารจัดการ การออกแบบระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลใหม่ ที่สำคัญในอนาคตการเบิกจ่ายค่ารักษาจะยิ่งสูงขึ้น เพราะเรากำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ อีกทั้งค่ายา และ เทคโนโลยีด้านต่างๆ ก็มีราคาแพงขึ้น หนีไม่พ้นที่รัฐบาลต้องเร่งหาทางออกให้เร็วที่สุด
นพ.อำพล กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้ไม่ควรให้บริษัทประกันเข้ามามีส่วน แต่ควรให้รัฐดูแลสวัสดิการข้าราชการต่อไป โดยต้องสร้างกลไกให้มีหมอมาดูแลอาการเจ็บป่วยของข้าราชการโดยตรง เช่น อาจจะสร้างศูนย์อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐแต่ละแห่ง เพราะทุกวันนี้โรงพยาบาลของรัฐก็ดูแลข้าราชการเป็นหลัก และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากรัฐ ไม่ได้ค้ากำไรเหมือนโรงพยาบาลเอกชนแต่เป็นการทำงานเพื่อสาธารณะอยู่แล้ว
นพ.อำพล ย้ำว่า การปฏิรูปควรเน้นที่ระบบบริการของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐ ที่ผ่านมาของเราดีมากและครอบคลุมทั่วประเทศตั้งแต่ตำบลจนถึงระดับชาติ เพียงแต่ต้องจับจุดการปฏิรูปให้ถูก และต้องทำงานร่วมกัน ให้ประเด็นชัดและให้ข้าราชการมาร่วมออกแบบเห็นดีเห็นงามด้วย เพราะถ้าทำนโยบายออกมาโดยที่ข้าราชการไม่มีส่วนร่วมและไม่ชัดเจนและเขาไม่เห็นด้วย การปฏิรูปการดูแลรักษาพยาบาลของข้าราชการก็เดินต่อยาก ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ควรเป็นประเด็นที่มาสร้างความขัดแย้งของสังคมเพราะข้าราชการก็ต้องการมีสวัสดิการที่ดีและมีคุณภาพเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว
"แนวทางแบบประกันชีวิต มันเดินไปไม่ได้ ข้าราชการเขาก็ไม่ยอม ข้าราชการก็ออกมาคัดค้านหนาแน่นมาก ข้าราชการก็ไม่ใช่ใครเติบโตเป็นองค์กรที่พัฒนาเขามา เขาอยากได้คุณภาพที่ดีขึ้น ฉะนั้นการทำอะไรตรงนี้ถ้าไม่ปรึกษาหรือให้เขามีส่วนร่วมและให้เขาดีขึ้นด้วยกัน มันก็ลำบาก ผมเห็นใจรัฐบาล แต่คนที่เสนอเรื่องนี้อาจคิดไม่รอบด้าน ไม่รู้อีกปัญหาที่จะเกิดอีกหลายประเด็น" นพ.อำพล กล่าว
นพ.อำพล กล่าวว่า พร้อมที่จะช่วยเสนอแนะให้การปฏิรูปครั้งนี้ดีขึ้นด้วยเพื่อไม่ให้งบประมาณบานปลาย คุมค่าใช้จ่ายได้ และมีคุณภาพที่ดีกว่าเดิม ทุกอย่างก็ลงตัวหมด รัฐบาลก็คุมเงินได้ ข้าราชการ และคุณภาพโรงพยาบาลก็ดีขึ้น ทุกวันนี้ เขาก็หนักใจ เพราะข้าราชการเวลามารักษาพยาบาลมันปลายเปิด เบิกอย่างไรก็ได้
- 11 views