สธ. เตือนอันตรายภัยเงียบ “เชื้อไวรัสตับอักเสบ” โดยเฉพาะ ชนิดบี ชนิดซี เป็นตัวการก่อมะเร็งตับ ตับแข็ง ติดต่อกันง่ายทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอชไอวี 50-100 เท่าตัว ขณะนี้ทั่วโลกพบป่วยโรคตับอักเสบปีละกว่า 400 ล้านราย เสียชีวิตกว่า 1 ล้านราย คาดการณ์ว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีราว 2,000 ล้านคน ส่วนคนไทยอายุ 20 ปีขึ้นไป คาดติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ประมาณ 1-2 ล้านคน หากไม่ร่วมมือกันป้องกัน คาดว่าจะมีคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งตับปีละประมาณ 250,000 คนในอนาคต
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม ของทุกปีองค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันโรคตับอักเสบโลก ( World Hepatitis Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคตับอักเสบ ตื่นตัวในการป้องกัน รักษา โดยเฉพาะตับอักเสบที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งขณะนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคตับอักเสบมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบ มีหลายชนิดได้แก่ ชนิดเอ, บี, ซี ,ดี, อี และจี
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า อันตรายภัยเงียบรุนแรง ที่เกิดตามมาภายหลังจากติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบบางชนิด พบว่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคตับแข็ง ตับวาย และมะเร็งตับในระยะเวลาต่อไปได้อีก น่าเป็นห่วงมาก เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่ควรเพิกเฉย องค์การอนามัยโลกรายงาน ทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคตับอักเสบปีละกว่า 400 ล้านราย เสียชีวิต 1 ล้าน 4 แสนราย เชื้อที่พบมากที่สุดร้อยละ 60 คือชนิดบี รองลงมาคือชนิดซี สำหรับในประเทศไทย ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 สำนักระบาดวิทยารายงานมีผู้ป่วยโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส 4,824 ราย เสียชีวิต 2 ราย เชื้อที่พบมากที่สุดคือชนิด บี พบประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือชนิดเอ ส่วนใหญ่เกิดอย่างเฉียบพลัน และเป็นเรื้อรัง พบผู้ป่วยได้ทุกเพศทุกวัย
“เชื้อไวรัสตับอักเสบแต่ละชนิด มีวิธีการติดต่อและแพร่เชื้อแตกต่างกัน โดยเชื้อชนิดเอ และอี ติดต่อกันได้ทางการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม ผัก ผลไม้ที่มีเชื้อปนเปื้อน ส่วนเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี,ซี ,ดี และจี สามารถแพร่ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ทางมารดาสู่ทารก หรือแพร่ผ่านทางเลือด จากการใช้ของมีคมร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น มีดโกน มีดโกนนวด รวมทั้งการสัก การเจาะหู การฝังเข็ม เป็นต้น ” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
นพ.ณรงค์กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรค และวิธีการป้องกันไม่ให้ป่วย และให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยทุกคน ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังตามมาตรการสากลเพื่อป้องกันการติดโรค โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งได้จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ให้เด็กแรกเกิดทุกรายทั้งเด็กไทยและเด็กต่างด้าวที่คลอดในประเทศ ซึ่งอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ เป็นวัคซีนเพื่อป้องกันโรคมะเร็งตับในระยะยาว ตั้งเป้าฉีดให้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่ผ่านมามีความครอบคลุมสูงถึงร้อยละ 99.9 นอกจากนี้จะเน้นการตรวจวินิจฉัยผู้ติดเชื้อระยะแรก เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ตัดวงจรแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อไวรัสตับอักเสบที่เป็นปัญหาทั่วโลกและในไทยคือ ไวรัสชนิดบี รองลงมาคือชนิด ซี เชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้ติดต่อคนอื่นคล้ายเชื้อเอชไอวี ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ คือติดต่อทางเลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสัมผัสสารคัดหลั่งทางเพศสัมพันธ์ และติดต่อจากแม่สู่ลูก แต่จะติดกันง่ายกว่าเชื้อเอชไอวีถึง 50-100 เท่าตัว เชื้อมีความทนทานและสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายวัน มีระยะฟักตัว 1-6 เดือน เฉลี่ยนาน 3 เดือน มีการคาดการณ์ว่าขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี ประมาณ 2,000 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 240 ล้านคน จะกลายเป็นผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง และเสียชีวิตปีละประมาณ 6 แสนคนจากโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ส่วนคนไทยในผู้ที่มีอายุ 20 ปี ขึ้นไป มีอัตราติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยไม่แสดงอาการป่วย ประมาณร้อยละ 2-5 ประมาณได้ว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบราว 1-2 ล้านคน และในอนาคต คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับปีละประมาณ 250,000 คน
ในการป้องกันโรคตับอักเสบ ขอให้ประชาชนปฏิบัติตัวดังนี้ 1.ลดละการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ทุกชนิด 2. ใช้ถุงยางอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ ขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์กับต่างเพศ หรือรักร่วมเพศก็ตาม จะปลอดภัยจากโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด รวมทั้งป้องกันการตั้งครรภ์ 3. ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 4. ไม่สัก ฝังเข็ม หรือเจาะ เช่น เจาะหู ในร้านที่ไม่มีมาตรฐาน 5.หลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด มีดโกน กรรไกตัดเล็บ 6. กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก รับประทานอาหารปรุงสุกด้วยความร้อน โดยเชื้อไวรัสตับอักเสบจะตายเมื่อถูกความร้อน 100 องศาเซลเซียส 7. ล้างผักสดและผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน 8. ไม่ถ่ายอุจจาระลงน้ำ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงส้วม ซึ่งมีระบบเก็บกักอุจจาระมิดชิด ไม่แพร่กระจายสิ่งแวดล้อม
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ จะมีอาการดีซ่าน คือตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา อาการตัวเหลืองตาเหลืองอาจเป็นนานหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะหายขาด แต่ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจจะกลายเป็นพาหะโรค คือสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ โดยไม่มีอาการป่วย หากติดเชื้อในช่วงอายุ 1 ปีแรก มีความเสี่ยงต่อการกลายเป็นผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ร้อยละ 90 หากติดในช่วงอายุ 1-4 ปี จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรังร้อยละ 30-50 และหากติดในวัยผู้ใหญ่ จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อเรื้อรังร้อยละ 10 หากประชาชนสนใจข้อมูลเพิ่มเติมให้สอบถามที่ หมายเลข 1422
- 47 views