รองวชิระเผยเตรียมยกเลิกหนังสือคำสั่งงดสังฆกรรสกับสปสช.แล้ว หลังสธ.หารือกับสปสช.ได้ข้อสรุปการบริหารงบปี 57 ประสานร่วมมือส่งข้อมูลเพื่อการจัดสรรเงิน พร้อมเร่งส่งเงินแก้สภาพคล่องในรพ.บางแห่ง ส่วนสิทธิประโยชน์ยามะเร็งยังเหมือนเดิม
18 ก.ค.57 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหารือกับนพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการการเงินการคลังระดับเขตและจังหวัด เรื่องการบริหารงบประมาณหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (UC) ในปี 2557 ใน 3 ประเด็นใหญ่ ได้แก่
1.การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของหน่วยบริการบางพื้นที่
2.การใช้เงินงบประมาณตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินท้วงติง สปสช.
3.การพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านผู้ป่วยมะเร็ง
นพ.วชิระกล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของหน่วยบริการบางพื้นที่ เช่นหน่วยบริการที่อยู่ห่างไกล หรือจังหวัดเล็ก ที่ได้รับงบประมาณรายหัวน้อย ขณะที่ถูกหักไปใช้เป็นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ร้อยละ 60 เท่ากับพื้นที่อื่น ทำให้งบในการจัดบริการไม่เพียงพอ โดยกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. จะพิจารณานำงบที่ยังเหลือ 2 ส่วน วงเงินประมาณ 1,560 ล้านบาทมาแก้ไขปัญหา ได้แก่
1.งบเงินเดือนที่กระทรวงสาธารณสุขกันไว้ปรับเกลี่ยในระดับเขต ร้อยละ 3 ของเงินเดือนทั้งหมด ประมาณ 360 ล้านบาท
2.งบเงินเดือนทั้งหมดที่รวมอยู่ในงบของสปสช. ซึ่งจากการประมาณของกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. ในช่วงต้นปีงบประมาณ 2557 ยอดเงินอยู่ที่ 61,000 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลจริง ณ ปัจจุบัน พบว่าใช้จริงเพียง 59,000 ล้านบาท เหลือเงินส่วนต่างอยู่ที่สำนักงบประมาณ ประมาณ 2,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ ร้อยละ 60 เป็นงบเงินเดือนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวที่รอบรรจุเป็นข้าราชการ 7,547 ตำแหน่ง แต่ในปีนี้ยังไม่ได้รับการบรรจุตามแผน ได้มอบให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ร่วมกับสปสช. จัดทำข้อมูลเสนอสำนักงบประมาณ เพื่อนำเงินส่วนนี้กลับมาจัดสรรให้กับหน่วยบริการนำไปใช้จัดบริการให้กับประชาชนต่อไปตามนโยบายบริการที่ดีกว่า (Better Service)
ประเด็นที่ 2 การใช้เงินงบประมาณรายหัวตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติง สปสช. ได้แก่ งบค่าเสื่อมในปีงบประมาณ 2556 ที่เหลือ 100 กว่าล้านบาท และงบปี 2557 ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งงบส่วนนี้จะใช้ในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ สิ่งก่อสร้างทดแทนของเดิมที่ชำรุด แต่มีการนำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ตามความเห็นของ สตง. เช่น ก่อสร้างอาคาร บ้านพักใหม่ แนวทางแก้ไขจะให้ทุกแห่งปรับแผนการใช้เงินให้ถูกต้องตามระเบียบการใช้เงิน โดยงบค่าเสื่อมในปี 2556 ให้ทุกเขต ทุกจังหวัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ หากติดขัดในรายการก่อสร้างให้ปรับเป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ทดแทน แล้วแจ้งแผนให้สปสช.จัดโอนเงินไป ส่วนงบปี 2557 ให้ดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 กันยายน 2558
สำหรับเงินในบัญชี 6 และ 7 ที่จัดส่งให้จังหวัดเพื่อใช้ในการจัดทำแผนงาน/โครงการส่งเสริมป้องกันโรค และบริหารจัดการภายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ในส่วนบัญชี 6 ให้ผูกพันงบประมาณในแผนงาน/โครงการให้เสร็จภายในกันยายน 2557 และใช้ให้หมดภายในกันยายน 2558 โดยให้มีทีมนักบัญชี ทั้งสปสช.และกระทรวงฯ ร่วมกันวางแผนดำเนินงาน ส่วนบัญชี 7 จะส่งไปให้จังหวัดเช่นเดิม แต่ปรับให้ถูกต้องตามระเบียบเป็นบัญชีของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยใช้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ
นพ.วชิระกล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ 3 การพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มรายการยารักษามะเร็งใหม่ ในปีงบประมาณ 2558 ที่ประชุมยังไม่ได้หารือกัน เนื่องจากเรื่องนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์และคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดสปสช. ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งทุกคนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนในปี 2557
ด้านเวบไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า นพ.วชิระ กล่าวถึงกรณีหนังสือสธ.งดความร่วมมือกับสปสช.ว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนบทบาทระหว่างผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ จึงออกหนังสือดังกล่าวเพื่อให้ นพ.สสจ. หรือ ผอ.รพ.ในสังกัด สธ. พิจารณาว่าการจัดกิจกรรมร่วมกันใดๆ ต้องเป็นลักษณะไม่ผูกมัด และให้ชะลอการทำนิติกรรมไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติ ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณปี 2557 ซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเด็นด้วยกันคือ 1.งบเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง 2.งบค่าเสื่อม และ 3.การพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มรายการยารักษามะเร็งใหม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ประเด็นเรื่องของการรักษาพยาบาล หรือการให้บริการประชาชนยังคงสามารถเดินหน้าได้ ไม่ได้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วยอย่างที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้ วันนี้ (18 ก.ค.) สธ.ได้หารือร่วมกับ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. ทั้ง 3 ประเด็นไปแล้ว และได้ข้อยุติที่ชัดเจน จึงชี้แจงให้ทาง สปสช.ทราบแล้วว่า สธ.จะออกคำสั่งยกเลิกหนังสือดังกล่าว ส่วนหนังสืออย่างเป็นทางการจะส่งตามไปในภายหลัง
ทั้งนี้ แหล่งข่าวในที่ประชุมเปิดเผยกับสำนักข่าว Health Focus ว่า การหารือดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. ได้หารือร่วมกันในวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกียวกับการดำเนินงานแก้ไขปัญหางบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2557 ในส่วนของรพ.สังกัดสป.สธ. ที่ยังไม่ได้รับงบประมาณดังกล่าว เนื่องจากทางสธ.ไม่ส่งข้อมูลตัวเลขเงินเดือนให้สปสช. จึงเป็นที่มาของการหารือครั้งนี้ ซึ่งบรรยากาศในการประชุมเป็นไปด้วยดี โดยนพ.วชิระ กล่าวขอบคุณสปสช.ที่มาเจรจาครั้งนี้ ทั้งยังระบุว่า ช่วยทำให้บรรยากาศการทำงานทั้งสองฝ่ายราบรื่น โดยขอร้องว่าต่อไปนี้ขอให้ทั้ง 2 ฝ่าย อย่าออกข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และขอให้นับจากนี้ไปทั้งสธ.และสปสช.ทำงานร่วมมือกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลที่ได้จากการเจรจาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นกระบวนการตามปกติระหว่างสธ.และสปสช.ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้วในการจัดการส่งงบประมาณให้กับรพ.สังกัดสธ.เป็นประจำในทุกปี
- 5 views