สธ. เผย ไข้เลือดออกปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 11,000 ราย น้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 80 กำชับทั่วประเทศเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะภาคใต้ที่ฝนตกชุก ให้กำจัดยุงลายสวนควบคู่กับยุงลายบ้าน เพราะมีมีแหล่งเพาะพันธุ์กระจายอยู่ในวงกว้าง ทำให้ยุงมีปริมาณมาก และเป็นพาหะโรคไข้เลือดออกเช่นกัน มอบกรมควบคุมโรค เก็บตัวอย่างยุงลายที่มีปริมาณหนาแน่นในพื้นที่พบผู้ป่วย ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ทราบสายพันธุ์ เพื่อวางแผนในการควบคุมป้องกันโรค
13 ก.ค.57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ รายงานของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ 1 มกราคม - 8 กรกฎาคม 2557 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 11,881 ราย เสียชีวิต 13 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อายุ 15-24 ปี ร้อยละ 25 เสียชีวิต 13 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 15 – 24 ปี ภาคกลางพบผู้ป่วยสูงสุด 4,698 รายเสียชีวิต 6 ราย รองลงมาภาคใต้ ป่วย3,404 ราย เสียชีวิต 6 รายภาคเหนือ ป่วย 1,953 ราย เสียชีวิต 1 รายและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ป่วย 1,826 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลงจากปี 2556 ในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 80 ก็ยังวางใจไม่ได้เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ซึ่งมีการระบาดของโรคทุกปี หากการป้องกันควบคุมโรคไม่ดี
กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคโดยใช้มาตรการหลัก ได้แก่ เฝ้าระวังยุงพาหะ โดยกำจัดลูกน้ำยุงลาย ที่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลเป็น จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง การเฝ้าระวังเชื้อในยุง คือ การกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้อ เมื่อมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ต้องพ่นหมอกควันและสารเคมีกำจัดยุงลายตัวที่มีเชื้อที่บริเวณโดยรอบรัศมี 100 เมตร ส่วนการเฝ้าระวังในคน คือการป้องกันไม่ให้เชื้อที่มีอยู่แพร่กระจายไปสู่คนอื่น โดยใช้ยาทากันยุงทาให้กับผู้ป่วยทุกรายไม่ให้ยุงลายมากัดแล้วนำเชื้อไปสู่ผู้อื่น และสร้างพฤติกรรมการป้องกันตนเองของประชาชนไม่ให้ถูกยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง จัดบ้านให้ปลอดโปร่ง
“ที่เป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ทุกคนยังคงเข้าใจว่ามีเฉพาะยุงลายบ้านที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ซึ่งจากการสำรวจยังพบว่ายุงลายสวนก็เป็นพาหะนำโรคได้ที่สำคัญคือยุงลายสวน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในป่าสวน เพาะพันธุ์ตามต้นไม้ใบไม้ ตอไม้ที่มีน้ำฝนมาตกค้างอยู่ มีแหล่งเพาะพันธุ์กระจายอยู่ในวงกว้าง ทำให้ปริมาณยุงมีความชุกชุมมีมากกว่ายุงลายบ้านมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับการกำจัดยุงลายสวนควบคู่ไปกับยุงลายบ้านด้วย โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่มีปริมาณฝนตกชุก มีฤดูฝนยาวนานกว่าภาคอื่นๆ และสภาพภูมิประเทศเป็นป่า หรือสวน เหมาะต่อการเพาพันธุ์ยุง” นายแพทย์ณรงค์กล่าว
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกในไทย เกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ มีอยู่ 4สายพันธุ์ (serotypes)คือ 1-2-3-4 ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง โดยไม่ซ้ำชนิดเดิม ซึ่งสายพันธุ์ที่ 2 มีอาการป่วยรุนแรงที่สุด โดยหลังจากที่ถูกยุงที่มีเชื้อกัด เชื้อจะฟักตัวในร่างกายประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการ โดยมีไข้ ตัวร้อนจัด หน้าตาแดง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน และปวดท้อง โดยไข้ไม่ลดเลย 4-5 วัน บางรายมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง จะเห็นเป็นจุดเล็กๆ
สีแดงคล้ายตุ่มยุงกัด โดยจะพบอยู่ตามแขน ขา ใบหน้า บางรายอาจมีเลือดกำเดาออก โดยอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังจากมีไข้ 1-2 วัน ในรายที่อาการไม่รุนแรง หลังจากมีไข้ 3-4 วันแล้ว ไข้จะเริ่มลดลง อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น ส่วนในผู้ที่มีอาการรุนแรง หลังจากมีไข้สูงติดต่อกัน 3-4 วัน ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึม มือเท้าเย็น เหงื่อออก กระสับกระส่าย ชีพจรเบาและเร็ว เป็นอาการเริ่มแรกของการช็อค บางรายมีเลือดออกในทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อาการเหล่านี้จะเกิดอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะทำให้ตายได้ ภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการช็อค
สำหรับกรณีที่มีรายงานข่าวมีเด็กอายุ 10 ปี ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก-ช็อก และมีแผลผุพองตามแขนขา นั้น ที่ อ.พะโต้ะ จ.ชุมพรนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพรรายงานว่า ผู้ป่วยเป็นเด็กหญิง อายุ 10 ปี เริ่มป่วยวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2557 แพทย์วินิจฉัยเป็นไข้เลือดออก ให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและย้ายเข้าห้องไอซียู (ICU) ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2557 ต่อมา 9 กรกฎาคม 2557 ญาติขอย้ายไปโรงพยาบาลชุมพรฯ ซึ่งผู้ป่วยมีภาวะช็อคก่อนที่จะมาถึงโรงพยาบาลชุมพรฯ และมีภาวะแทรกซ้อนหลายระบบ มีเลือดออกในสมอง ขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู อาการทั่วไปคงที่
โดยก่อนหน้าที่จะพบผู้ป่วยรายนี้ มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 1 ราย อายุ 3 ปี เข้ารับการรักษาที โรงพยาบาลพะโต้ะ เมื่อ 30 มิถุนายน 2557 โดยบ้านผู้ป่วยอยู่ห่างกันประมาณ 250 เมตร ซึ่งทีมสวบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วจากสำนักควบคุมป้องกันโรคที่ 11 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชุมพร ได้สอบสวนโรค ส่งเลือดตรวจหาสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรค และดำเนินการพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายตัวแก่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งมอบหมายให้สำนักควบคุมป้องกันโรคที่ 11 เก็บตัวอย่างยุงลายที่มีปริมาณหนาแน่นในพื้นที่พบผู้ป่วย ดูสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก เพื่อวางแผนในการควบคุมป้องกันโรค โดยส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- 8 views