ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้แทนสถาบันจัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย และผู้แทนสมาชิกสภาการแพทย์แผนไทย ยื่นหนังสือถึง นายกสภาการแพทย์แผนไทย และ ประธานคณะอนุกรรมการการจัดสอบความรู้การแพทย์แผนไทย ฐานทำตำรานวดไทยสำคัญ 3 เล่มตกสำรวจ อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้เข้าสอบ

(10 ก.ค.) สืบเนื่องจาก “ประกาศคณะอนุกรรมการการจัดสอบความรู้การแพทย์แผนไทย ฉบับที่ 05 /2557 เรื่อง  ตำราที่ใช้เป็นแนวทางในการสอบความรู้ในวิชาชีพการแพทย์แผนไทยของผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมจากสถาบันหรือสถานพยาบาลที่สภาการแพทย์แผนไทยรับรอง ตาม ม.12(2)(ก) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ประจำปี  พ.ศ. 2557” ลงนามโดย ประธานคณะอนุกรรมการการจัดสอบความรู้การแพทย์แผนไทย (นายปภัสสร เจียมบุญศรี) ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2557  ไม่มีการประกาศตำราสำคัญที่   ใช้ประกอบการเรียนการสอนใน “หลักสูตรการประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภทการนวดไทย (หลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย)”

เมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) ผู้แทนสมาชิกสภาการแพทย์แผนไทยร่วมกันลงนาม(ผู้แทนสถาบันฯร่วมลงนาม 14 สถาบัน, สมาชิกสภาฯร่วมลงนาม 69 รายชื่อ) และยื่นหนังสือร้องเรียนถึง นายกสภาการแพทย์แผนไทย (นายทรงยศ ชัยชนะ) และประธานคณะอนุกรรมการการจัดสอบความรู้การแพทย์แผนไทย (นายปภัสสร เจียมบุญศรี)

นางกรกมล เอี่ยมธนะมาศ ครูผู้รับมอบตัวศิษย์มูลนิธิเพื่อเด็กพิการ ตัวแทนผู้ยื่นหนังสือ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องไปยื่นหนังสือเพราะ ตำราสำคัญที่ขาดหายไปประกอบด้วย 1.ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 2.ตำราหมอนวดวัดโพธิ์ จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และ 3.ตำราการนวดไทย เล่ม 1 (2541) .มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่3(2550) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ผู้สมัครสอบความรู้ด้านการนวดไทยจำนวนมากเกิดความสับสนและวิตกกังวลว่า การประเมินความรู้ของคณะอนุกรรมการการจัดสอบฯ อาจไม่ครอบคลุมองค์ความรู้ของการนวดไทยดั้งเดิมและไม่เป็นธรรมต่อศิษย์ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย  

“นายกฯสภาการแพทย์แผนไทยและประธานอนุฯจัดสอบต้องประกาศตำราด้านการนวดไทยดั้งเดิม ให้คงอยู่ไม่ให้สูญหาย เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้การนวดไทยสมบูรณ์ครบถ้วน และเกิดความเป็นธรรมต่อผู้เข้าสอบความรู้ด้านการนวดไทย ที่ใช้ตำราการนวดไทย เป็นหลักในการเรียน”

ทางด้านนายนพดล เขมะรัตนา สมาชิกสภาการแพทย์แผนไทย ด้านการนวดไทยสายตาพิการ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “หมอนวดไทยสายตาพิการส่วนใหญ่ ใช้ตำราการนวดไทย เป็นคู่มือหลักในการเรียน และรักษาอาการผู้ป่วย ได้ผลจริง จึงได้ร่วมกันลงนาม69 รายชื่อ โดยมีหมอนวดผู้พิการทางสายตาร่วมลงนาม 15 คน”

ภายหลังการรับหนังสือ นายปภัสสร เจียมบุญศรี ประธานคณะอนุกรรมการการจัดสอบความรู้การแพทย์แผนไทย กล่าวว่าได้ทราบถึงปัญหาการประกาศตำราแล้ว และมีความเห็นว่าถ้าเป็นตำราที่ใช้ในการเรียนการสอนดั้งเดิมในหลักสูตร และต้องใช้ในการสอบ จะต้องนำเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการการจัดสอบความรู้ฯ พิจารณาประกาศเพิ่มเติม  ส่วนตำราที่เสนอเข้ามาใหม่ต้องขอให้คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาในโอกาสต่อไป  

ทั้งนี้ สถาบันการอบรมของผู้พิการทางสายตา ได้ใช้ตำราการนวดไทย เล่ม 1 เป็นตำราหลักในการสอน  และเป็นตัวแบบจัดทำ“หนังสือเสียงระบบเดซี แบบเต็มรูป” อย่างสมบูรณ์แล้ว (มีทั้ง ตัวหนังสือ  ภาพประกอบ ที่สามารถพิมพ์เป็นอักษรเบรลล์  ภาพนูนสำหรับคนตาบอด  พร้อมทั้งเสียงอ่าน)  และขณะนี้มีหมอนวดสายตาพิการสำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย และได้เป็นสมาชิกสภาการแพทย์แผนไทย ด้านการนวดไทยจำนวน 34 คน   และมีผู้ที่สมัครสอบ(สายตาพิการ) ตั้งแต่ พ.ศ.2555พร้อมเข้าสอบในปีพ.ศ. 2557 นี้ จำนวน 69 คน