สธ.ย้ำเตือนประชาชนที่นิยมบริโภคเห็ดป่า ให้งดเก็บดอกตูม เสี่ยงเป็นเห็ดพิษ เพราะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ โดยเฉพาะ "เห็ดระโงกหิน" ที่พิษทนความร้อน ทำลายตับไต สมอง อาจเสียชีวิตได้ใน 4-10 ชม. แจงวิธีต้มพร้อมช้อน เชื่อถือไม่ได้ เผย 6 เดือนป่วยแล้วกว่า 200 ราย ล่าสุดเสียชีวิตที่เชียงใหม่
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนจะมีเห็ดขึ้นตามธรรมชาติ ป่า เขา จำนวนมาก มีทั้งเห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดระโงก เห็ดโคน เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า เห็ดไข่ห่าน เห็ดตะไคร้ เป็นต้น และมีเห็ดพิษ หรือที่เรียกว่า เห็ดเมา ที่ดอกมีลักษณะใกล้เคียงกับเห็ดที่รับประทานได้ ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด และเก็บมารับประทาน จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ซึ่งพบได้ทุกปี
ข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 57 - 23 มิ.ย. 57 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ 214 ราย จาก 40 จังหวัด เสียชีวิต 3 ราย คือ ที่พิษณุโลก 1 ราย ล่าสุด ที่เชียงใหม่ 2 ราย ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงมา คือ รับจ้างและนักเรียน กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 25-54 ปี จึงได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เร่งให้ให้ความรู้ประชาชน ในการบริโภคเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติอย่างปลอดภัย
ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เห็ดพิษของไทย พิษมีทั้งไม่รุนแรงจนถึงรุนแรงทำให้เสียชีวิต แต่ที่ประชาชนบริโภคและเกิดปัญหาได้บ่อยพบว่าอยู่ใน 7 กลุ่มพิษ ประมาณ 12 ชนิด มีชื่อตามท้องถิ่น ได้แก่ เห็ดระโงกหิน หรือเห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก เห็ดสมองวัว เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึก หรือเห็ดถั่ว เห็ดเกร็ดดาว เห็ดขี้ควาย หรือบางแห่งเรียกว่า เห็ดโอสถลวงจิต เห็ดไข่หงส์ เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดกรวยเกล็ดทอง เห็ดไข่เน่า เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เป็นต้น ซึ่งอาการเจ็บป่วยขึ้นอยู่กับชนิดของพิษเห็ด
สำหรับเห็ดที่มีพิษรุนแรงที่สุดและเป็นเหตุให้เสียชีวิตบ่อยที่สุด คือ เห็ดระโงกหิน และเห็ดไข่ตายซาก จะมีสารพิษ 2 ชนิด คือ อะมาท็อกซินส์ (Amatoxins) และฟาโลท็อกซินส์ (Phallotoxins) ทำลายระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต สมอง ระบบเลือด ระบบหายใจ ทำให้เสียชีวิตได้ใน 4-10 ชั่วโมง สารพิษในเห็ดทนความร้อนได้ดี ดังนั้นถึงแม้เห็ดจะสุกแล้ว แต่ความเป็นพิษก็ยังสูง จะมีอาการหลังรับประทานประมาณ 3 ชั่วโมง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นเร็ว ปวดเกร็งในท้อง
"มีข้อแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังเป็นพิเศษ 2 ประการ คือ อย่ารับประทานเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เนื่องจากเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที และเมื่อดื่มสุราไปด้วย ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะเป็นตัวนำทางให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก และอย่าบริโภคเห็ดป่าที่ดอกยังตูมๆ หรือเรียกว่า เห็ดอ่อน เนื่องจากจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกภายนอกจะเหมือนกัน ซึ่งจากการสอบสวนผู้ป่วยที่เมาเห็ดพิษ พบว่าส่วนใหญ่จะนิยมกินเห็ดดอกตูม เพราะรสชาติดีกว่าเห็ดบาน" นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวต่อไปว่า เห็ดป่า เป็นอาหารที่มีคุณค่า เช่น โปรตีน หากจะให้ได้ทั้งคุณค่าอาหารและความปลอดภัย ขอแนะนำประชาชนยึดหลักดังนี้ 1.ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจและเพาะได้ทั่วไป อย่ารับประทานเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ เช่น เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์ หรือใกล้มูลสัตว์ 2.ไม่ควรซื้อหาเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารกิน 3.ขอให้จดจำลักษณะเห็ดพิษที่สังเกตง่าย ได้แก่ มีสีเข้มจัด เช่น แดง ส้ม ดำ หรือมีสีฉูดฉาด มีแผ่นหรือเกล็ดขรุขระบนหมวกเห็ด มีขนหรือหนามเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป และมีกลิ่นเหม็นเอียน และ 4.การเก็บเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกิน ไม่ได้แสดงว่าเห็ดนั้นปลอดภัย
ทั้งนี้ เห็ดพิษที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก เห็ดไข่ตายซาก เห็ดชนิดนี้รูปร่างจะคล้ายเห็ดระโงกที่รับประทานได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญ คือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง ช่วงที่เสี่ยงอันตรายที่สุด คือ ช่วงที่เห็ดยังดอกตูม หรือที่เรียกว่ากำลัง เป็นไข่ ซึ่งชาวบ้านนิยมบริโภค ในพื้นที่ที่เคยมีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิตจากเห็ดพิษ ขอให้ประชาชนตระหนักว่า มีเห็ดพิษชนิดรุนแรงอยู่ในพื้นที่ เพราะในช่วงฤดูฝนเห็ดสามารถเจริญเติบโตซ้ำได้ทุกๆ ปี
นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้ในการทดสอบเห็ดพิษหลายวิธี เช่น การต้มกับข้าวสาร หรือต้มกับช้อนเงิน แล้วเปลี่ยนสี ไม่สามารถนำมาใช้กับเห็ดพิษได้ โดยเฉพาะกลุ่มเห็ดระโงกพิษ ทั้งนี้ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่รับประทานเห็ดพิษ หลักการสำคัญที่สุด จะต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียน เอาเศษอาหารที่อยู่ในกระเพาะอาหารออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายพิษ ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกง 3 ช้อนชา แล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนโดยเร็วที่สุด แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษ หากยังเหลืออยู่ ไปให้แพทย์ดูด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร. 0-2590 3183 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
- 50 views