กรมบัญชีกลางปรับหลักเกณฑ์เบิกค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน หลังข้าราชการมีปัญหา ไม่ถึงขั้นเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติ ตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ไปเข้ารักษาที่รพ.เอกชนแต่ถูกเรียกเก็บเงิน ปรับเกณฑ์ใหม่ หากไม่ฉุกเฉินวิกฤติสีแดง แต่เป็นฉุกเฉินเร่งด่วนสีเหลือง และฉุกเฉินระดับสีเขียว ไปรักษาที่รพ.เอกชนให้สำรองจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกเงินได้ที่หน่วยราชการต้นสังกัด แจงเพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงิน
นายมนัส แจ่มเวหา
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ผลจากการเรียกร้องของข้าราชการในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชน แต่เกิดปัญหาว่าผู้เจ็บป่วยในกรณีใดที่ถือว่า เข้าขั้นวิกฤติในทางความเห็นแพทย์ ทำให้ข้าราชการรวมถึงผู้ได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลเช่น บิดา มารดา สามี-ภรรยาและบุตร เกิดความเข้าใจผิด โดยนำผู้เจ็บ ป่วยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน เพื่อหวังว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่สุดท้ายแล้ว โรงพยาบาลก็ได้เรียกเก็บเงินจากการรักษาดังกล่าว ทำให้ข้าราชการได้รับความเดือดร้อนและคิดว่าตนเองถูกลิดรอนสิทธิ์ด้วย
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน กรมบัญชีกลางจึงได้ออกประกาศการคลังเรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในสถานพยาบาลเอกชนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยยึดตามประกาศคณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ได้เพิ่มในกรณีที่ผู้เจ็บป่วยมีอาการรุนแรง แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤติ โดยผู้ป่วยนี้จะใช้สัญลักษณ์ "สีเขียว" โดยยึดหลักตามประกาศคณะกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน แต่ผู้ที่เจ็บป่วยต้องสำรองจ่ายเงินและนำใบเสร็จไปเบิกที่ส่วนราชการต้นสังกัด
ทั้งนี้ คณะกรรมการแพทย์ฯ ได้แยกผู้เจ็บป่วยไว้ 3 กรณีคือ 1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะใช้สัญญาลักษณ์ "สีแดง" คือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยกะทันหัน มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง 2."สีเหลือง" คือผู้ป่วยที่มีภาวะเฉียบพลันมากหรือเจ็บปวดอย่างรุนแรง มีความจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติการแพทย์อย่างรีบด่วน ไม่เช่นนั้นจะทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยรุนแรงมากขึ้น และ 3. "สีเขียว" คือผู้ป่วยที่ความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยน้อยกว่าสีแดงและสีเหลือง เช่น แขนหักจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
นายมนัส กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้บูรณาการเรื่องรักษาพยาบาลร่วมกับสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม โดยปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกันและเป็นไปทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อข้าราชการและผู้ที่ได้รับสิทธิ์เข้ารักษากับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว และเมื่อโรงพยาบาลดังกล่าวได้เรียกเก็บเงินจาก สปสช. แต่ สปสช.ไม่อนุมัติ กรมบัญชีกลางจึงได้หารือร่วมกับ สปสช.และสำนักงานประกันสังคม เพื่อเพิ่มสิทธิให้แก่ข้าราชการ รวมถึงการแยกแยะและวิเคราะห์ความรุนแรงของผู้เจ็บป่วยให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
สำหรับหลักเกณฑ์การเบิกค่ารักษาพยาบาลใหม่นี้ ข้าราชการและผู้ที่ได้รับสิทธิ์กรณีเจ็บป่วยสีแดงและสีเหลือง จะเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ตามแนวทางการพิจารณาของ สปสช. ขณะที่ผู้บาดเจ็บสีเขียวจะเบิกได้ครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 8,000 บาท ค่าห้องวันละ 1,000 บาท ค่าอวัยวะเทียมเบิกได้ไม่เกินอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้พยายามควบคุมค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการไม่ให้เบิกเกินความจำเป็น โดยในแต่ละปีมีข้าราชการและผู้ที่ได้รับสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลประมาณ 60,000 ล้านบาท
- 1846 views