ชมรมเพื่อนโรคไตฯ เผย 6 ปี ระบบบัตรทองด้านโรคไต รักษาผู้ป่วยไตได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง ระบุเกิดจาก สปสช.เน้นการมีส่วนร่วม เปิดช่องผู้ป่วยร่วมพัฒนาสิทธิประโยชน์ แถมหนุนสร้างเครือข่ายผู้ป่วยเข้มแข็ง พร้อมเสนอ สปสช. มอบสิทธิประโยชน์ร่วมจ่ายแก่ผู้ป่วยฟอกไตหลัง 1 ต.ค. 51
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์โรคไตในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” จนถึงขณะนี้เป็นเวลาร่วม 6 ปีแล้ว ต้องยอมรับว่าไม่เพียงแต่ช่วยผู้ป่วยไตเข้าถึงการรักษาเท่านั้น แต่ยังให้การรักษาที่ครอบคลุม ทั้งการฟอกไตผ่านเครื่อง การล้างไตผ่านช่องท้อง การให้ยากดภูมิ และยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญคือการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า โรคไตถือเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวอยู่ในภาวะล้มละลาย ต้องกู้หนี้ยืมสิน เพราะค่ารักษาที่แพงมาก แค่ค่าฟอกไตก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนั้นสูงถึง 2,000-2,500 บาทต่อครั้ง ทั้งยังต้องทำการฟอกไตสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง รวมทั้งยังมีค่ายาอื่นๆ อีก เฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการรักษาอยู่ที่ 40,000-50,000 บาทต่อเดือน
นายธนพล กล่าวว่า การที่สิทธิประโยชน์ด้านโรคไตมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน่วยบริการ การเข้าถึงการรักษา และสิทธิการรักษาที่ครอบคลุม ปัจจัยสำคัญมาจากการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยโรคไต ซึ่งไม่เพียงแต่ สปสช. เปิดให้ผู้ป่วยโรคไตเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการกำหนดสิทธิประโยชน์การรักษา ทำให้สามารถสะท้อนปัญหาอุปสรรค และความต้องการในการเข้าถึงการรักษาได้ ทั้งยังสนับสนุนการดำเนินงานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยจนเกิดความเข็มแข็ง ซึ่งปัจจุบันชมรมเพื่อนโรคไตฯ มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตฯ ถึง 68 จังหวัดแล้ว และในปีหน้าจะขยายเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
“บทบาทสำคัญของชมรมเพื่อนโรคไตฯ คือการอบรมให้ความรู้กับผู้ป่วยด้วยกัน ในการดูแลตนเอง รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง อย่างเช่น การล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินโครงการ ถูกโจมตีอย่างหนัก ว่าอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเสียชีวิต ซึ่งมาจากความไม่เข้าใจ แต่จนถึงขณะนี้การล้างไตผ่านช่องท้องได้รับการยอมรับจากผู้ป่วยไต เพราะนอกจากเป็นมาตรฐานการรักษาแล้ว ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย นอกจากไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลแล้ว ยังใช้ชีวิตปกติที่บ้านได้ แถมยังไม่ต้องควบคุมอาหารเช่นเดียวกับผู้ป่วยฟอกไต” ประธานชมรมเพื่อนโรคไตฯ กล่าวว่า และว่า ผลสำเร็จการดูแลผู้ป่วยโรคไตที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากมาจากการรวมตัวของผู้ป่วยและเครือข่ายภาคประชาชนในการผลักดันในช่วยเริ่มต้นแล้ว สปสช.นับเป็นกลไกสำคัญ ขับเคลื่อนเพื่อทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา
นายธนพล กล่าวว่า ในการผลักดันเรื่องสิทธิการรักษา ทางชมรมเพื่อนโรคไตฯ ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เดินหน้าในทุกระบบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันระบบประกันสังคม เนื่องจากสิทธิการรักษาโรคไต ทางสำนักงานประกันสังคมยังจำกัดเพดานการเบิกจ่ายที่ 20,000 บาท ซึ่งการฟอกไตและล้างไตผ่านช่องท้องต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ดังนั้นจึงเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมขยายสิทธิไตเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะนี้ทางชมรมเพื่อนโรคไตฯ ได้เสนอขอสิทธิประโยชน์ร่วมจ่ายให้กับผู้ป่วยไตที่เลือกรักษาด้วยวิธีฟอกไตแทนการล้างไตผ่านช่องท้อง หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เนื่องจากปัจจุบันยังเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องรับภาระค่ารักษานี้
นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคไตวาย สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้จัดสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคไตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา สามารถลดอัตราการเสียชีวิตและยืดอายุผู้ป่วยโรคไตวายให้มีอายุยืนยาวขึ้น และจากข้อมูลล่าสุด ปี 2557 มีผู้ป่วยโรคไตวายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยังคงรักษาจำนวน 31,389 ราย เป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านหน้าท้องมากที่สุด 16,448 ราย ฟอกไตผ่านเครื่อง 12,929 ราย ในจำนวนนี้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนวิธีการล้างไตระหว่างปี นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยไตสะสมที่ได้รับการปลูกถ่ายไต 1,418 ราย ในจำนวนี้เป็นผู้ป่วยปลูกถ่ายไตที่รับยากดภูมิ 1,381 ราย
“สปสช.ได้พัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยไต ไม่เพียงแต่ให้ครอบคลุม แต่ยังเน้นที่การเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันก็ได้รับความร่วมมือจากชมรมเพื่อนโรคไตฯ อย่างดี ที่ช่วยกันพัฒนาระบบ จนทำให้การดูแลผู้ป่วยไตได้รับความพึงพอใจจากผู้รับบริการ” ผอ.แผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคไตวาย กล่าว
- 21 views