วงเสวนาชี้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 2560 บั่นทอนระบบจัดซื้อยาทั้งประเทศ ปลุกองค์การเภสัชกรรมลุกขึ้นสู้ ให้กรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อยาจาก อภ.ก่อนเอกชน เพื่อรักษากลไกหลักความมั่นคงทางยาของชาติ
วันที่ 17 พ.ค. 2560 ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “การยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535เป็นการทำลายระบบสาธารณสุขของไทยจริงหรือไม่” ณ อาคารอำนวยการ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อหารือถึงผลกระทบต่อความมั่งคงทางยาหลังจากประกาศใช้ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560
ภญ.ศิริพร จิตประสิทธิศิริ อดีตประธานชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เดิม อภ. ได้รับการคุ้มครองโดยให้ส่วนราชการจัดซื้อยาไม่น้อยกว่า 60% และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่น้อยกว่า 80% รวมถึงการให้จัดซื้อยาจาก อภ.เป็นอันดับแรกหากราคาใกล้เคียงกันยกเว้นราคาสูงกว่ารายอื่นๆ เกิน 3% แต่ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ไม่มีเรื่องเหล่านี้แล้ว
ภญ.ศิริพร กล่าวว่า หากเปิดเสรีให้ อภ.แข่งขันด้วยตัวเอง ต้องอยู่ด้วยตัวเองเช่นนี้ หาก อภ.อ่อนแอหรือไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบยาทั้งประเทศ เพราะที่ผ่านมา อภ.เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยตรึงราคายาในประเทศไว้ แต่หาก อภ.อยู่ไม่ได้ ราคายาในประเทศไทยจะสูงขึ้นกว่านี้ โรงพยาบาลขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากยอดซื้อมีไม่มาก อำนาจการต่อรองต่ำ รวมทั้งผู้ป่วยจะขาดแคลนยาจำเป็นที่มีผู้ผลิตน้อยราย ซึ่งปัจจุบัน อภ.รับหน้าที่ผลิตยาเหล่านี้แม้ไม่ทำกำไรก็ตาม
ด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัยแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังยา กล่าวว่า การเจรจาเขตเสรีการค้าที่ผ่านมา ทั้งเขตเสรีการค้าไทย-อเมริกา และ ไทย-ยุโรป ต่างมีข้อเสนอในเรื่องการเปิดเสรีจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยต้องเปิดให้บริษัทเอกชนต่างประเทศสามารถเข้าประมูลหรือเสนองานภาครัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ดี แม้การเจรจาเขตการค้าเสรีจะล้มไปแล้ว แต่ความพยายามในการแก้ไขกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างกลับมีมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเจรจา TPP แม้การเจรจานี้จะล้มไป แต่กฎหมายก็ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาแล้ว ขณะที่ท่าทีของกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังก็เอนเอียงไปทางเอกชน เช่น การพยายามให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาบริหารงบประมาณสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ส่วนเรื่องยานี้เชื่อว่าบริษัทยาข้ามชาติก็วิ่งเต้นไม่น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ
อย่างไรก็ดี ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ มีข้อดีอย่างหนึ่งคือในมาตรา 65 เปิดช่องให้สามารถออกกฎกระทรวงยกเว้นได้ ดังนั้นควรอาศัยช่องทางนี้ออกข้อยกเว้นเพื่อความมั่นคงด้านยา โดยกำหนดว่าหากหน่วยงานรัฐจัดซื้อยา หากราคายาต่างกันไม่เกิน 3% ให้จัดซื้อยาจาก อภ.ก่อน เพื่อให้ อภ.สามารถอยู่ได้ หรือหากไม่มีข้อยกเว้น รัฐก็ต้องจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการของ อภ.ให้สามารถอยู่ได้
“แม้กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค. 2560 แต่ก็มีช่องทางมาตรา 65 พวกเราต้องไปส่งเสียงให้กระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลางออกกฎกระทรวงยกเว้น ต้องไปบอกให้เขารู้เพราะเขาใช้สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เขาไม่สนใจหรอกว่าจะซื้อยาแพงแค่ไหน แต่ประชาชนที่ต้องพึ่งบัตรทองมันจำเป็นต้องจัดซื้อยาในราคาที่เหมาะสม เราก็ชักชวนกันไปบอกอย่างสุภาพว่ามันจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง บอกว่าการออกกฎกระทรวงเพื่อการจัดซื้อยาของหน่วยบริการเป็นเรื่องจำเป็น ต้องส่งเสียงดังๆในจำนวนที่มากพอ” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า อภ.เป็นกลไกความมั่นคงทางยาและจะปล่อยให้ล้มไม่ได้ หากกลไกนี้ล้มไปก็จะไม่มีคนตรึงราคายา ส่งผลให้ยาแพง งบประมาณรายหัวที่หน่วยบริการได้รับไม่เพียงพอที่จะซื้อยา ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพล้มตามไปด้วย สุดท้ายก็กลับมาให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายอีก
“การแก้กฎหมายนี้เป็นการทำลายระบบการผลิตยาในประเทศเลยนะ ทุกวันนี้เรามีบริษัทยาในประเทศกี่บริษัทเอง หากบริษัทข้ามชาติต้องการล้ม อภ. แค่ลดราคายาติดต่อกัน 5 ปี ถามว่า อภ.อยู่ได้ไหม แล้วถ้าไม่มีบริษัทยาในประเทศก็ต้องนำเข้ายา บริษัทข้ามชาติจะตั้งราคาเอาเท่าไหร่ก็ได้ ดังนั้นเราต้องสู้ต่อไป อย่างน้อยต้องผลักดันให้มีกฎกระทรวงหรือมีข้อยกเว้นแก่ อภ.เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว”นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นนี้ อภ.ต้องสู้จากเนื้อในก่อน แล้วผสานกับเครือข่ายภายนอก อภ.มีต้นทุนทางสังคมสูง เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของยา เป็นที่พึ่งของประชาชน อย่างไรเสียภาคีภายนอกก็ไม่ปล่อยให้ต้องสู้เพียงลำพังอยู่แล้ว แต่การต่อสู้ต้องออกมาจากเนื้อในก่อน
“เรื่องแบบนี้ฝากความหวังกับผู้นำแบบปัจจุบันไม่ได้จริงๆ ถ้าต้องการให้ผู้มีอำนาจแสดงออกที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่านี้เราก็ต้องแข็งกร้าวและเสียงดังบ้าง ต้องยืนยันว่าเรื่องไหนยอมได้ เรื่องไหนยอมไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ผมคิดว่ายอมไม่ได้” นายนิมิตร์ กล่าว
นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า หากไม่มี อภ. ประชาชนตายแน่ๆ เพราะไม่มีคนตรึงราคายาให้ หากจัดซื้อยาจากบริษัทยาข้ามชาติด้วยงบประมาณรายหัวจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็คงไม่พอ สิ่งที่ตามมาคือโรงพยาบาลติดหนี้และหากติดหนี้มากๆ บริษัทยาไม่ส่งยาให้แล้วจะทำอย่างไร
- 105 views