กรมอนามัยเตือนระวังใช้พลาสติกอ่อน ใส่อาหาร-น้ำดื่มร้อนๆ เสี่ยงสารไดออกซินละลายออกมามากกว่า ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกตากแดด ย้ำเรื่องการใช้ขวดพลาสติกซ้ำหลายครั้ง เสี่ยงเพาะเชื้อแบคทีเรีย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีข่าวลือให้ระวังการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกในรถยนต์และตากแดดเป็นเวลานาน เสี่ยงเกิดสารไดออกซิน จนทำให้เกิดมะเร็ง ว่า อย่าวิตกกังวลเกินเหตุ เพราะความร้อนที่จะทำให้ขวดพลาสติกละลายและปะปนกับน้ำดื่มต้องมีอุณหภูมิสูงประมาณ 70-100 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิในรถยนต์ไม่ถึงขนาดนี้ แต่ที่ต้องระวังคือ การใช้ภาชนะพลาสติกในครัวเรือน อย่าใช้พลาสติกอ่อนๆ ใส่พวกอาหาร หรือน้ำดื่มร้อนๆ เพราะอาจทำให้สารไดออกซินออกจากพลาสติกบางชนิดได้ และการใช้ขวดพลาสติกเปล่าซ้ำหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ผ่านการทำความสะอาดที่ถูกวิธี โดยเฉพาะบริเวณปากขวด และฝาขวดที่เกิดจากการใช้ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจทำให้ขวดน้ำกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
       
“สิ่งสำคัญการนำขวดพลาสติกเก่ามาใช้ ควรทำความสะอาดให้ทั่วถึงและต้องสังเกตลักษณะของขวด หากมีรอยชำรุด รั่ว แตกร้าว บุบ ก็ไม่ควรนำมาใช้ หรือหากเป็นขวดที่มีการปนเปื้อนดินก็ควรหลีกเลี่ยงในการนำมาใช้ซ้ำเช่นกัน ทั้งนี้ ขอย้ำในเรื่องความสะอาดของน้ำดื่ม โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ก่อนนำมาดื่มควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 5 นาที เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
       
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า ปี 2555 กรมอนามัยได้สำรวจน้ำดื่มบรรจุขวดจำนวน 131 ตัวอย่าง พบมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย จำนวน 85 ตัวอย่าง คิดเป็น ร้อยละ 65 ประชาชนจึงควรให้ความสำคัญในเรื่องความสะอาดของขวดบรรจุน้ำด้วย