‘หมอประชุมพร’ สมาพันธ์รพศ./รพท. หนุน หมอณรงค์ นำข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ. พร้อมปัดฝุ่นร่างพ.ร.บ.ข้าราชการกสธ. ศึกษาใหม่ ด้าน ‘หมออารักษ์’ แพทย์ชนบท เสนอแปลก แนะปลัดสลับตำแหน่ง นั่งแท่นเลขาธิการก.พ.เลย จะทำให้แยกออกจาก ก.พ.สำเร็จแน่ เหตุคนที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่เข้าใจระบบสาธารณสุข เน้นจำกัดกำลังคน เพิ่มประสิทธิภาพ ทำอึดอัด ส่งผลสมองไหลเข้าเอกชน สภาการพยาบาลชี้ ต้องเน้นความเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ แจงไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีความพยายามทำแล้ว ถึงขั้นมีร่างพ.ร.บ.ขรก.กสธ. แต่ยังมีช่องว่างเรื่องความเป็นธรรม กังวลถูกปกครองโดยแพทย์
(1 มิ.ย.57) ภายหลังจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่ามีแนวคิดปรับเปลี่ยนการบริหารบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขโดยไม่ต้องขึ้นตรงกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่ในการดูแล และปกป้องศักดิ์ศรีของข้าราชการอย่างที่ควรจะเป็น นั้น พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ตนเห็นด้วย และเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการมานานแล้ว เพราะจะทำให้การทำงานของกระทรวงมีความคล่องตัวมากขึ้นทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคล และการบริหารงบประมาณ ซึ่งก่อนหน้านี้ในสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ทางสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมกับ พญ.อรพรรณ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการจัดทำร่าง พ.ร.บ. กระทรวงสาธารณสุข ไปเสนอสภา แต่ยังไม่ผ่านเพราะติดปัญหาเรื่องค่าตอบแทน อีกทั้งยังมีการยุบสภาไปก่อน ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนต่อได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ทางสมาพันธ์ฯ ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน โดยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาร่างพ.ร.บ.ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่เคยทำเอาไว้ พร้อมทั้งศึกษาตัวอย่างจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ออกจากการดูแลของ ก.พ.ไปแล้ว ว่ามีข้อดี ข้อเสียอย่างไร เช่น วิชาชีพครู วิชาชีพตำรวจ แต่ทั้งนี้วิชาชีพทางด้านสาธารณสุขค่อนข้างมีความหลากหลายแตกต่างจากวิชาชีพอื่นๆ จึงทำได้ยาก เฉพาะวิชาชีพแพทย์อย่างเดียวมีมากกว่า 20 สาขา และเมื่อแยกเป็นอนุแพทย์แล้วมีมากกว่า 80 สาขา อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามทำออกมาในส่วนของวิชาชีพแพทย์ให้ได้ เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างให้กับวิชาชีพอื่นๆ อ้างอิงเป็นแนวปฏิบัติ
“พ.ร.บ.กสธ. เป็นพ.ร.บ.ของตัวเอง ตัวเองดูแลตัวเอง ไม่ต้องมีโบรกเกอร์มาดู กลุ่มแพทย์อยากจะดูแลตัวเองมากกว่าให้คนอื่นมาดูแล้วไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย แต่ถ้าออกมาแล้วเราจะต้องต่อสู้ด้วยตัวเองทุกอย่าง ทั้งเรื่องตำแหน่ง เงินเดือน ตรงนี้คณะกรรมการต้องแข็งแรง ทำเองหมดแทน ก.พ. เหมือนกับมีหน่วย ก.พ.ของตัวเอง ถ้าเราออกมาเรื่องการบรรจุข้าราชการก็ไม่ต้องไปผ่าน ก.พ. คพร. แค่รัฐมนตรีสนับสนุนและเสนอครม.ได้เลย ปัญหาคือเราจะเข้มแข้งหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ใช่ง่ายๆ ต้องทำต่อเนื่อง” พญ.ประชุมพร กล่าว
นพ.อารักษ์ วงษ์วรชาติ
นพ.อารักษ์ วงษ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เห็นด้วยที่นพ.ณรงค์ จะนำพาข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกจากการดูแลของ ก.พ. แต่การทำเรื่องนี้จะไม่ประสบความสำเร็จถ้าคนที่เป็นเลขาธิการ ก.พ.ยังไม่ใช่คนที่เข้าใจระบบสาธารณสุขดีพอว่ามีความซับซ้อนอย่างไร เพราะฉะนั้นตนเสนอแนะว่าถ้าอยากจะทำเรื่องนี้ให้ได้ผลก็อยากจะให้นพ.ณรงค์ พิจารณาเป็นเลขาธิการ ก.พ. ได้หรือไม่ ให้ประสบความสำเร็จ เพราะตอนนี้ปัญหาติดอยู่ที่คนเป็นเลขาธิการ ก.พ.ไม่ยอมปล่อยให้ออกมา ทั้งนี้ตนมองว่าหากไม่ยอมปล่อยข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกมา และถูกจำกัดเรื่องกำลังพล และเรื่องอื่นๆ จะทำให้คนทำงานอึดอัด และหันหน้าออกนอกระบบไปอยู่กับเอกชนหมด ยิ่งเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะยิ่งทำให้สมองไหล เก็บคนไม่อยู่ ตำแหน่งไม่มี ค่าตอบแทนก็น้อย ตรงนี้จะทำให้คนลำบากใจที่จะอยู่ในระบบ
“ที่ผ่านมาคนที่เป็นเลขาธิการ ก.พ. ที่ผ่านมาจะยึดหลักการของ ก.พ. คือการไม่เพิ่มคน ลดกำลังคน เพิ่มประสิทธิภาพ แต่เขาไม่เคยเข้ามาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เลยไม่รู้ว่าบริบทของกระทรวงสาธารณสุขไม่เหมือนกระทรวงอื่น มีเรื่องประชาชน ความเจ็บไข้ เรื่องสุขภาพที่เกิดวิกฤติ หรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนั้นคนที่จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ต้องมีความเข้าใจ คือคนที่อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข และเข้าไปอยู่ตรงนั้น ดังนั้นหากคนที่เป็นเลขาธิการ ก.พ.ยังไม่เข้าใจ ทำแค่ไหนก็ไม่มีวันสำเร็จ” นพ.อารักษ์ กล่าว และว่า รัฐจะต้องดูแลคนในระบบของรัฐให้มากกว่านี้ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตด้านสุขภาพ โรคระบาด ปัญหาก่อการร้าย เช่นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คนที่จะเข้ามาดูแลคือบุคลากรในสังกัดของรัฐ รัฐต้องดูแลอย่างใกล้ชิด จะละเลยเพิกเฉยไม่ได้
ดร.กฤษดา แสวงดี
ด้าน ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบข้าราชการทั้งประเทศ แต่สายงานด้านสุขภาพนั้นบริบทการทำงานที่แตกต่างจากข้าราชการสายงานวิชาชีพทั่วๆ ไป เมื่ออยู่ภายใต้ระบบการดูแลแบบเดียวกันจึงมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง เช่น ความก้าวหน้า เงินเดือน เป็นต้น นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความคิดที่จะออกจาก ก.พ. ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยที่จะกระทรวงสาธารณสุขจะออกจากการดูแลของ ก.พ. แต่ กระทรวงสาธารณสุขเองมีบุคลกรหลายสาขาวิชาชีพ ดังนั้นถ้าออกมาแล้วจะต้องให้ความสำคัญกับการดูแลคนทุกสายงานอย่างเป็นธรรม เสมอภาค มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจในรูปแบบของคณะกรรมการ ที่มีสัดส่วนจากทุกสาขาวิชาชีพอย่างเท่าเท่ยมกัน ทั้งนี้เพื่อให้บุคลากรที่มีความหลากหลายมีความมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง
“ถ้าออกมาแล้วต้องทำให้ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาจะมีความไม่เป็นธรรมในเรื่องเหล่านี้ ทั้งความก้าวหน้า ค่าตอบแทนแต่ละสายงานที่ยังไม่เป็นธรรม การแยกออกมาปกครองกันเองต้องทำให้มีความเป็นธรรม เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น เคยมีแนวคิดมา และขนาดมีร่างพ.ร.บ.ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เมื่อดูร่างฯ แล้วยังมีช่องว่างเรื่องความเป็นธรรม เช่น องค์ประกอบของกรรมการ ตรงนี้ยังมีความกังวลของทั้ง 27 สายงาน สิ่งที่คนส่วนใหญ่กังวล กังวลว่าจะถูกปกครองโดยแพทย์หรือไม่ เพราะถ้ามีความเป็นวิชาชีพ อาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรม” ดร.กฤษดา กล่าว
หมายเหตุ ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุข พ.ศ....
- 13 views