นพ.วชิระ เผยเขตสุขภาพรูปแบบใหม่ รื้อโครงสร้างบริหาร เปลี่ยน CEO จากผู้ตรวจ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 แทน เน้นคนในพื้นที่ ขณะนี้มีแล้ว 48 คน ต้องคัดเหลือ 12 คน เตรียมยกระดับเป็นนิติบุคคล คล้ายองค์การมหาชนแบบรพ.บ้านแพ้ว คาดสำเร็จในอีก 3-5 ปี เชื่อช่วยเกลี่ยทรัพยากร ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 พฤษภาคม พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) และรองหัวหน้าคสช.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา จะเดินทางมายังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อให้นโยบายต่างๆ กับผู้บริหารสธ. โดยทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) เตรียมเสนอแนวทางการดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ.2558-2560) เกี่ยวกับการบริหารเขตบริการสุขภาพรูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการแก่ประชาชน โดยแนวทางดังกล่าวคือ การบริหารจัดการเขตสุขภาพ 12 เขตพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปสธ. โดยให้จังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้เคียงกันอยู่ในเขตบริการสุขภาพเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดการจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกันของหน่วยบริการภายในเขตบริการสุขภาพ ซึ่งการบริหารแต่ละเขตพื้นที่นั้น จะต้องมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนของพื้นที่นั้นๆ โดยมีประธานเป็นผู้บริหารระดับซีอีโอ (CEO) คอยดูแล
"เดิมทีวางผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นผู้บริหารเขตสุขภาพ แต่เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจสู่พื้นที่อย่างแท้จริง จะต้องหาบุคคลที่พร้อมทำงานอยู่ในพื้นที่นั้นๆ กล่าวคือ นั่งประจำการในแต่ละเขตบริการสุขภาพ เพื่อให้รับรู้ปัญหา และแก้ไขได้อย่างทันท่วงที เบื้องต้นได้มีการเสนอผู้ทรงคุณวุฒิใน สธ.ระดับ 10 เป็นซีอีโอ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 48 คน จะต้องมีการคัดเลือกให้เหลือ 12 คนประจำแต่ละเขตพื้นที่ โดยการบริหารดังกล่าวจะนำไปสู่การบริหารโครงสร้างใหม่ในระดับนิติบุคคลในอีก 3-5 ปี ซึ่งอาจยกระดับเป็นองค์การมหาชน เหมือนการบริหารของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ที่เป็นโรงพยาบาลองค์การมหาชนแห่งแรก บริหารจัดการกันเองอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆมากมาย จนเกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของโรงพยาบาลร่วมกัน" นพ.วชิระ กล่าว
นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า การบริหารเช่นนี้นอกจากจะเป็นการปฏิรูปการบริหารแบบใหม่ที่เน้นการกระจายอำนาจสู่พื้นที่แล้ว ยังส่งผลดีต่อประชาชนในแง่การรับบริการที่สะดวกสบาย โดยไม่ต้องรอคิว โดยเฉพาะการผ่าตัดโรคต่างๆ ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดไส้ติ่ง โดยการบริหารแบบเขตสุขภาพจะทำให้มีการใช้ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรด้านเครื่องมือแพทย์ร่วมกัน อาทิ โรงพยาบาลหาดใหญ่มีหมอผ่าตัด 100 คนมีห้องผ่าตัด 16 ห้อง ซึ่งทำให้หมอผ่าตัดกลุ่มหนึ่งว่างจากการผ่าตัด ก็ให้โยกหมอกลุ่มนี้ไปทำการผ่าตัดอีกโรงพยาบาล คือ โรงพยาบาลสงขลา ซึ่งมีหมอน้อย ห้องผ่าตัดไม่ได้ใช้ เป็นการใช้บุคคลทางการแพทย์ร่วมกันอย่างคุ้มค่านั่นเอง ขณะที่ผู้ป่วยนอก หรือกลุ่มผู้ป่วยทั่วไปที่ต้องมารอคิว จนเห็นสภาพแออัดเหมือนที่ผ่านมา ก็จะมีการกระจายให้รักษาใกล้บ้าน คือ โรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพในการรักษาโรคทั่วไปได้ โดยทั้งหมดเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อประโยชน์ต่อการประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการพูดคุยเรื่องปรับโครงสร้างกระทรวงสธ.บ้างหรือไม่ รองปลัด สธ.กล่าวว่า ไม่มีการปรับโครงสร้าง มีเพียงการวางแนวทางการบริหารที่เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสป.สธ.เรื่องการจัดสรรงบต่างๆ ให้มีระเบียบรองรับ อาทิ การให้ค่าตอบแทนเพิ่มบุคลากรสาธารณสุขทั้งแพทย์ พยาบาลกรณีมีการล้างไต ซึ่งตรงนี้ต้องปรับระเบียบจากให้บุคลากรโดยตรง เป็นให้โรงพยาบาลแทน เนื่องจากให้บุคลากรโดยตรงอาจเกิดความเหลื่อมล้ำ ว่า หมอ พยาบาลที่ทำงานแผนกไอซียู เพราะเหตุใดได้รับเงินค่าตอบแทนน้อยกว่า
- 7 views