กระทรวงสาธารณสุข จัดระบบเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์โดยจะทำการตรวจเลือดหาสารตะกั่วตกค้างในเด็กและผู้ใหญ่ ตรวจพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำรวจความเสี่ยงของสารตะกั่วในเครื่องใช้ในบ้านเช่นภาชนะอาหาร ของเด็กเล่น ในอีก 1 - 2 เดือนนี้ เผยเด็กที่พบตะกั่วในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐาน ขณะนี้อยู่ในระหว่างติดตามเฝ้าระวังสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ด้านพัฒนาการปกติ
จากกรณีที่มีข่าวชาวบ้านที่ตำบลโคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ และตรวจพบว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ได้รับจากสารพิษตะกั่ว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยพบเด็กอายุ 1 ขวบ มีสารตะกั่วในเลือดอยู่ในขั้นอันตราย ต้องเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิดนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามเฝ้าระวังปัญหาในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มาโดยตลอดตั้งแต่พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ผลการสุ่มเจาะเลือดหาสารตะกั่วเมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม 2556 ได้ตรวจกลุ่มผู้ใหญ่ 102 คน ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ปกติ และตรวจกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 122 คน ส่วนใหญ่ปกติ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยพบ 1 ราย เป็นเด็กอายุ 1 ขวบ 6 เดือน ค่าสารตะกั่วในเลือดในระดับ 13.2 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือ ไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า เด็กรายนี้ที่บ้านประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย ซึ่งทีมแพทย์ได้ติดตามตรวจวัดฝุ่นตะกั่วในสิ่งแวดล้อมภายในบ้านด้วย ผลปรากฏว่าพบฝุ่นตะกั่วที่ชิ้นส่วนของเก่า ที่นอนแบบพับ กระเป๋าเด็กเล็ก ฝาโอ่งน้ำ และได้แก้ไขปรับปรุงให้ปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอนามัยและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันผลกระทบสุขภาพประชาชนจากสารตะกั่วอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประเมินแหล่งดำเนินการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศมีประมาณ 94 แห่ง ในจังหวัดกระบี่ กาฬสินธุ์ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ นครปฐม นนทบุรี บุรีรัมย์ ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระแก้ว และอำนาจเจริญ โดยมากที่สุดที่จังหวัดกาฬสินธุ์มี 48 แห่ง กรมควบคุมโรคได้วางแผนติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพของประชาชน โดยในจังหวัดกาฬสินธุ์มี 5 แผน จะดำเนินการใน 1-2 เดือนนี้ ประกอบด้วย 1.การตรวจเลือดประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะทุก 1 ปี เพื่อหาสารอันตรายสารตะกั่วและแคดเมียมทุก 1 ปีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 2.ตรวจสิ่งแวดล้อมร่วมกับกรมอนามัย เช่น น้ำอุปโภคบริโภคและบ้านเรือน 3.ตรวจพัฒนาการเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี 4.สำรวจอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านเรือนที่มีความเสี่ยงปนเปื้อนสารตะกั่ว เช่น ภาชนะใส่อาหาร ของเล่นเด็ก 5.จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านวิชาการ
ทางด้านนายแพทย์พิสิทธิ์ เอื้อวงศ์กูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผลการติดตามสุขภาพเด็กวัย 1 ปี 6 เดือน ที่พบค่าตะกั่วเกินมาตรฐาน ขณะนี้อยู่ในระหว่างติดตามเฝ้าระวังสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ส่วนพัฒนาการอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตามสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้ให้คำแนะนำการในการป้องกันการสัมผัสสารตะกั่วหรือสารอันตรายอื่น ๆ เช่น ให้ใส่ถุงมือผ้าและหน้ากากอนามัย ให้ชำระล้างร่างกายเมื่อเสร็จภารกิจ ไม่รับประทานอาหารในพื้นที่คัดแยกขยะ ให้ดื่มน้ำดื่มที่สะอาดหรือน้ำกรองบรรจุขวด มาตรการเฝ้าระวังที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับ สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ศูนย์อนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอฆ้องชัยที่ได้ดำเนินการมาก่อนนี้ คือ ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสสารพิษ ประเมินความเสี่ยงจากการทำงานในสถานที่ที่มีการคัดแยกขยะ พร้อมให้คำปรึกษากลุ่มเสี่ยงในการป้องกันตนเอง ซึ่งในปีนี้มีแผนที่จะตรวจหาสารตะกั่วในน้ำอุปโภคบริโภค และพืชผักที่ปลูกในหมู่บ้าน ใน 1 - 2 เดือนนี้ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยในพื้นที่ และจะประชุมร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาขยะ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 10 - 20 ตัน
- 41 views