สธ.ซ้อมแผนเตรียมความพร้อม รับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือเมอร์ส-โควี ขณะที่มีรายงานผู้ป่วยไทยเข้าข่ายเฝ้าระวังมีแล้ว 17 ราย ล่าสุดทั่วโลกพบผู้ป่วยแล้ว 495 ราย เสียชีวิต 141 ราย ใน 17 ประเทศ
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 57 ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สุรพันธ์ ทวิวิทยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ แถลงข่าวว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โรงพยาบาลเอกชน หน่วยงานภายในกระทรวงสาธารณสุข ฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2012 หรือเมอร์ส-โควี (MERS-CoV)ระดับกระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบการฝึกปฏิบัติจริง ณ การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ และสถาบันบำราศนราดูร เพื่อเตรียมความพร้อมใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การตรวจค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสในระยะเริ่มต้น 2.ซักซ้อมความเข้าใจระบบการส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสม 3.ระบบการป้องกันการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลให้ได้ตามมาตรฐาน
การฝึกซ้อมครั้งนี้ ได้ใช้สถานการณ์สมมติที่มีผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 ส่งมาจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ เพื่อเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร หลังจากเสร็จสิ้นการซ้อมแผนครั้งนี้แล้ว จะฝึกซ้อมแผนในระดับจังหวัดทุกจังหวัด เน้นเรื่องการบริหารจัดการในโรงพยาบาล และจะประชุมสรุปผลการซ้อมแผนในภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ส่วนใหญ่มาจากประเทศในแถบตะวันออกกลาง มีการแพร่กระจายของเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามสถานการณ์ และประเมินความเสี่ยงของโรคนี้อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด แม้ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยโรคนี้ในประเทศไทย แต่ประชาชนชาวไทยยังคงมีความเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปในประเทศแถบตะวันออกกลาง ดังนั้นจึงต้องเพิ่มความเข้มข้นในระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยทุกจังหวัด ทั้งในชุมชนและในโรงพยาบาล
ขณะนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และขอความร่วมมืออีกหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ควบคู่กับโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้หวัดนก ในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันควบคุมการติดเชื้อตามมาตรฐานสากลให้เข้มงวดเป็นพิเศษในระดับสูงสุด เช่นเดียวกับการป้องกันโรคซาร์ส โดยได้จัดทำคู่มือแนวทางการดูแลรักษา การป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล แจกให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศแล้ว หากพบผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลาง ให้แจ้งที่สำนักระบาดวิทยาทันที เพื่อเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังและป้องกันโรค ขณะเดียวกันได้จัดระบบการเฝ้าระวังในชุมชน ได้ให้ อสม.และ อสม.ฮัจญ์ ติดตามอาการผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศตะวันออกกลางเป็นเวลา 14 วัน และได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรค จัดการฝึกซ้อมแผนระดับกระทรวงสาธารณสุข เป็นการเร่งด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์การระบาดของโรค
สำหรับด้านการรักษาพยาบาล ได้จัดระบบการดูแลผู้ป่วย ตั้งแต่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยโรคนี้ และไม่มีความพร้อมดูแล ให้แจ้งมายังศูนย์ประสานส่งต่อ กรมการแพทย์ ทางหมายเลข 0-2206-2910-2 หรือ 081-9802722 เพื่อประสานส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาในโรงพยาบาล ที่มีระบบควบคุมการแพร่เชื้ออย่างดี ขณะนี้ใน กทม.ได้จัดไว้ 4 แห่ง คือสถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และสถาบันโรคทรวงอก ส่วนในต่างจังหวัดจะมีที่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปสู่ชุมชน
ด้านนายแพทย์โสภณ กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2012 เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบในคนมาก่อน เริ่มพบในคนครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2555 ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control) ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2557 พบผู้ป่วยยืนยันทั้งสิ้น 495 ราย เสียชีวิต 141 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 28.48 ใน 17 ประเทศ ได้แก่ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ตูนีเซีย อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กรีซ อียิปต์สหรัฐอเมริกา และเยเมน ในเดือนเมษายน 2557 เพียงเดือนเดียว มีรายงานผู้ป่วยสูงถึง 288 ราย สำหรับในประเทศไทย มีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวัง รวม 17 ราย จากกทม. 3 ราย เพชรบุรี 4 ราย ปัตตานี 6 ราย สมุทรปราการ ยะลา ตรัง และอินโดนีเซียแห่งละ 1 ราย
ทั้งนี้ โรคนี้พบในกลุ่มผู้เดินทางไปแสวงบุญ ผู้สัมผัสอูฐ/ดื่มนมอูฐ และมีการแพร่กระจายของเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์นี้ เป็นคนละสายพันธุ์กับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ยังไม่มีวัคซีนและการรักษาที่จำเพาะ เป็นการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น องค์การอนามัยโลก แนะนำให้เพิ่มความตระหนักโรคนี้ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แต่ยังไม่แนะนำให้ตั้งจุดตรวจคัดกรองพิเศษบริเวณทางเข้า-ออกประเทศ และไม่แนะนำให้มีการจำกัดการเดินทาง หรือกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ระบาด ควรรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยรุนแรงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย หรือผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ ขอให้หลีกเลี่ยงการเที่ยวชมฟาร์ม พื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร และตลาดที่มีอูฐอยู่ หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสอูฐ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำนมดิบจากอูฐที่ยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมทั้งการกินอาหารที่ไม่สะอาด หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการล้าง ปอกเปลือก หรือปรุงให้สุก เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์ ทั้งนี้ ควรล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด หากจำเป็นควรใส่หน้ากากป้องกันโรค หากมีอาการคล้ายไข้หวัดให้รีบไปพบแพทย์ และหลังเดินทางกลับมาถึงเมืองไทยภายใน 14 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก อาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน หรือมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ขอให้ไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร 0-2590-3159, 3238หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 3 views