กระทรวงสาธารณสุข จัดทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลสวนปรุง และสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ในอำเภอแม่ลาว อำเภอพาน เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและมีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต รวม 9 กลุ่ม โดยจะติดตามประเมินสุขภาพจิตซ้ำต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจะประชุมถอดบทเรียน การจัดการของโรงพยาบาลในภาวะแผ่นดินไหว

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2557) นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ว่า ขณะนี้ปัญหาเรื่องการบาดเจ็บไม่น่าเป็นห่วง ทุกคนได้รับการรักษาเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องโครงสร้างของสถานบริการสาธารณสุข สามารถซ่อมแซมได้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน แต่ที่เป็นห่วงคือปัญหาด้านจิตใจของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอใหญ่ คืออำเภอแม่ลาว พาน แม่สรวย และเมือง โดยเฉพาะ 2 อำเภอ คืออ.พานและแม่ลาว ซึ่งบ้านเรือนได้รับความเสียหายและมีผู้เสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ร่วมกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จัดทีมสุขภาพจิต จากโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งในจังหวัดเชียงราย และเสริมทีมจากโรงพยาบาลสวนปรุง และสถาบันพัฒนาการเด็ก็ราชนครินทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ 2 อำเภอนี้เพื่อประเมินปัญหาด้านสุขภาพจิต และให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ต่อเนื่อง

ในช่วง 2 สัปดาห์แรก ได้วางแผนดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต สูงกว่าคนอื่น รวม 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.ครอบครัวผู้เสียชีวิต 2.กลุ่มเด็ก 3.ผู้สูงอายุ 4.ผู้ที่บ้านพังทั้งหลัง 5.ผู้ที่บ้านพังบางส่วน 6.ผู้ป่วยจิตเวชเดิม 7.ผู้พิการ 8.หญิงตั้งครรภ์ และ9.ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้จะมีไม่ต่ำกว่า 20,000 คน โดยจะมีการสำรวจความเครียดเบื้องต้น และให้การดูแลตามระดับความรุนแรง เพื่อลดผลกระทบให้ได้เร็วที่สุด และไม่สะสมความเครียดในระยะยาว ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และผู้ป่วยจิตเวชเดิม จะต้องไม่ขาดยา

ขณะเดียวกัน ได้ให้สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน จัดประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดเชียงราย เพื่อถอดบทเรียนในด้านการปฏิบัติงานเผชิญเหตุในช่วงแผ่นดินไหว ระบบการจัดการภายในโรงพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย รวมทั้งการจัดบริการภาคสนาม นอกอาคารบริการ ซึ่งจะใช้เป็นต้นแบบในการจัดการด้านการแพทย์สาธารณสุขในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

ด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตประชาชนที่ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว พบกลุ่มเสี่ยงผู้ที่บ้านพังประมาณร้อยละ 50 มีความเครียดที่ต้องเฝ้าระวัง ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบคือนอนไม่หลับ หวาดผวา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่พบได้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังเกิดเหตุการณ์ หากได้รับการดูแลที่เหมาะสมก็จะสามารถปรับตัวและกลับเป็นปกติได้ และพบผู้มีอาการซึมเศร้า 2 ราย โดย 1 รายเป็นผู้ป่วยจิตเวชเก่า บ้านพังทั้งหลัง ได้ให้รพ.แม่ลาวไปดูแลรักษาต่อ

ทั้งนี้ ในการดูแลสุขภาพจิตในอ.แม่ลาว กรมสุขภาพจิต ได้จัดทีมสุขภาพจิตวันละ 3 ทีม เป็นทีมดูแลผู้ใหญ่ 2 ทีม และดูแลเด็กโดยเฉพาะ 1 ทีม วันนี้ลงพื้นที่ต.จอมหมอกแก้ว และวันที่ 14 พฤษภาคมที่ ต.ดงมะดะ และจะมีการติดตามประเมินผลต่อเนื่องทุก 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน อย่างไรก็ดี ขอให้ประชาชน พยายามพักผ่อนนอนหลับและรับประทานอาหารตามปกติ รายที่ต้องกินยาประจำอย่าขาดยา และหากยาใกล้หมดหรือสูญหายขอให้แจ้งผู้นำชุมชนหรืออสม.หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากยังรู้สึกวิตกกังวลนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย พูดคุย เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ก็จะช่วยคลี่คลายปัญหาในเบื้องต้นได้